ธุรกิจประกันถือหุ้นกู้ 1 ล้านล้าน คปภ.สั่งเช็กรับมือดาวน์เกรด

ส่องพอร์ตประกันลงทุนหุ้นกู้ 1 ล้านล้านบาท คปภ.สแกนสั่งธุรกิจประกันทดสอบภาวะวิกฤต หวั่นหุ้นกู้ถูกดาวน์เกรดกระทบเงินกองทุน เผย “ประกันชีวิต-วินาศภัย” ถือหุ้นกู้การบินไทยรวมกันราว 7 พันล้านบาทต้องตั้งสำรอง 82% ฟาก “ทิพยประกันชีวิต” แจงอยู่ระหว่างพิจารณาตั้งสำรองหุ้นกู้การบินไทยที่ถืออยู่ 1.5 พันล้านบาท

นางสาวชญานิน เกิดผลงาม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนามาตรฐานการกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คปภ.ได้หารือเบื้องต้นกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ถึงการกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยจะต้องมีการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ในกรณีตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่บริษัทได้ลงทุนเกิดถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ (ดาวน์เกรด) ลงต่ำกว่าระดับลงทุน (non-investment grade) จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 ว่าจะส่งผลกระทบต่อฐานะเงินกองทุนหรือไม่

ทั้งนี้ หากทดสอบไปแล้ว เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทประกันจะต้องปรับพอร์ตลงทุน ปรับพอร์ตผลิตภัณฑ์ รวมถึงอาจต้องเพิ่มทุน เพื่อให้เงินกองทุนมีความแข็งแกร่งขึ้น

“จริง ๆ บริษัทประกันต้องทำเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา เมื่อเห็นความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อปรับพอร์ตลงทุนให้ปลอดภัยเพียงพอกับความสามารถ แต่ปกติแล้วการทำ stress test จะทำปีละครั้งโดยทาง คปภ.จะกำหนดเงื่อนไขรายละเอียดมาให้ทดสอบ อย่างปีนี้ก็มีทำไปรอบหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา” นางสาวชญานินกล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนของบริษัทประกัน คปภ.กำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะหุ้นกู้ระดับลงทุน ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทประกันชีวิตทั้งระบบมีการลงทุนหุ้นกู้ทั้งหมด 9.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 24% ของสินทรัพย์ลงทุนรวมกว่า 4 ล้านล้านบาท และบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบมีการลงทุนหุ้นกู้ 4.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 16% ของสินทรัพย์ลงทุนรวมกว่า 3 แสนล้านบาท

“กฎระเบียบของ คปภ.กำหนดให้บริษัทประกันต้องเตรียมเงินสำรองไว้รองรับความเสียหาย (risk charge) จากความเสี่ยงด้านเครดิตการลงทุน ด้านตลาดจากอัตราดอกเบี้ย โดยพิจารณาความเสี่ยงจาก 2 ส่วนหลัก คือ 1.ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยปัจจัยเฉพาะของผู้ออกตราสาร (specific risk) และ 2.ความเสี่ยงผิดนัดชำระ (default risk)”

นางสาวชญานินกล่าวด้วยว่า กรณีหุ้นกู้การบินไทย (THAI) ที่ถูกดาวน์เกรดลงมาสู่ระดับ D หรือผิดนัดชำระหนี้ พบว่ามีบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยลงทุนอยู่ทั้งหมดราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งตามเกณฑ์ คปภ. บริษัทประกันจะต้องตั้งสำรองสูงถึง 82% ของมูลค่าหุ้นกู้ โดยพิจารณาตามความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยปัจจัยเฉพาะของผู้ออกตราสาร (specific risk) ประมาณ 68% ความเสี่ยงด้านเครดิตจากการลงทุน 14%

นอกจากนี้ บริษัทประกันวินาศภัยจะต้องคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยด้านปัจจัยตลาดทั่วไป (general market risk) ไม่เกิน 13.9% ส่วนบริษัทประกันชีวิตจะต้องคำนวณความเสี่ยงนี้ตามกระแสเงินสด (cash flow) ของบริษัทด้วย อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการปฏิเสธการชำระเงินต้นที่ครบกำหนดไปแล้ว จะไม่สามารถนับมูลค่าหุ้นกู้ดังกล่าว ซึ่งจะต้องตีค่ามูลค่าหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ เป็นศูนย์ทันที

“อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงธุรกิจประกันภัยเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงแล้ว เพื่อบอกขั้นตอนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งการยื่นเรียกร้องผลประโยชน์คาดว่าน่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่เราไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า มีบริษัทประกันใดบ้างที่ลงทุน” นางสาวชญานินกล่าว

นายสมพร สืบถวิลกุล รองประธานกรรมการ บมจ.ทิพยประกันชีวิต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทลงทุนหุ้นกู้การบินไทยอยู่ราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ได้มีการไปยื่นเรื่องแสดงตัวเป็นผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอใช้สิทธิ์ในการรับการชำระหนี้แล้ว ส่วนผลกระทบต่อการตั้งสำรองขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกับผู้ตรวจสอบบัญชี และสำนักงาน คปภ. ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

“ลูกค้าของทิพยประกันชีวิตไม่ต้องกังวล เพราะถึงแม้ว่าบริษัทจะต้องตั้งสำรองเต็ม 100% ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัท หรือเสียหายมาก อาจจะแค่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทลดลงไปบ้าง” นายสมพรกล่าว