ตลาดกังวลโควิด หนุนดอลลาร์แข็งค่าอีกครั้ง

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 31.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้น จากการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ หลังตลาดมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เผยออกมาในระยะนี้ดีเกินคาด

อาทิ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในสหรัฐ ในวันพฤหัสบดี (2/7) เพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตำแหน่ง และดัชนีกิจกรรมภาคบริการของสถาบันจัดการอุปทานของสหรัฐ (ISM) ในวันจันทร์ (6/7) ขยายตัวสู่ระดับ 57.1 ในเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคมที่เผยอยู่ที่ระดับ 45.4 ทำให้นักลงทุนเทขายดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย และกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ก่อนที่ในช่วงบ่ายค่าเงินบาทจะทยอยลดแรงบวก และปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องจนกระทั่งปิดตลาดในช่วงเย็น จากแรงซื้อกลับเงินดอลลาร์ในประเทศ และแรงขายทำกำไรเงินสกุลยูโร

อย่างไรก็ดี นักลงทุนยังคงติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดรัฐฟลอริดา และเท็กซัส รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากขึ้นหลังจากการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นนี้ทำให้ตลาดกังวลว่าสหรัฐจะดำเนินมาตรการปิดเมืองหรือไม่

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.03-31.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่งนักลงทุนยังคงจับตาสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ และวุฒิสภาได้ลงมติคะแนนเสียงเอกฉันท์และได้ส่งเสนอผ่านร่างกฎหมาย Hong Kong Autonomy Act ให้แก่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อเตรียมลงนามประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญเพื่อคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้ฮ่องกงสูญเสียอิสรภาพและขัดขวางการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมไปถึงการคว่ำบาตรธนาคารหรือบริษัทที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่ดังกล่าว

ขณะที่ทางโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนได้ออกมากล่าวเตือนสหรัฐ ออสเตรเลีย และอังกฤษว่าทางการจีนอาจมีมาตรการตอบโต้ หากประเทศเหล่านี้ยังไม่หยุดการก้าวก่ายและออกมาตรการที่มายุ่งกับกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกงฉบับใหม่

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 1.1322/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 1.1233/35 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นโดยได้แรงหนุนจากการเปิดตัวเลขเศรษฐกิจในเขตยูโรโซนที่สดใส อาทิ สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้น 17.8% ทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกปี 2542 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่หดตัวถึง 11.7% และยอดสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีเผยขยายตัว 10.4% ในเดือนพฤษภาคม

อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายภายหลังตลาดยุโรปเปิดทำการ ค่าเงินยูโรร่วงลงอย่างหนัก โดยได้รับแรงกดดันจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปคาดการณ์ว่า วิกฤตไวรัสฉุดเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวมากเป็นประวัติการณ์ 8.7% ในปีนี้ ก่อนที่จะดีดตัวขึ้น 6.1% ในปีหน้า ประกอบกับแรงขายทำกำไรเงินยูโร หลังยูโรทะยานขึ้นอย่างแข็งแกร่งเหนือ 1.1300 เทียบดอลลาร์เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตลาดติดตามการเจรจาแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจยูโรโซน หลังนางแองเจล่า มาร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวย้ำสมาชิกสภาผู้แทนสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเร่งหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจยูโรโซนให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความประนีประนอมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขณะที่นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า ตนยังไมเห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งหาข้อตกลงเกี่ยวกับแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจยูโรโซนในการประชุมผู้นำสหภาพยุโรปที่จะมีขึ้นในวันที่ 17-18 กรกฎาคมนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1238-1.1345 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1262/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/7) ที่ระดับ 107.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/7) ที่ระดับ 107.50/53 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ ก่อนที่ระหว่างวันจะลดแรงบวกลงและกลับมาอ่อนค่า หลังจากญี่ปุ่นเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวอยู่ที่ 0.1% ในพฤษภาคม สวนทางกับที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.8%

ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์ความขัดแจ้งระหว่างสหรัฐและจีนอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.22-107.78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.77/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจสำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs ของสหรัฐเดือนพฤษภาคม (7/7), สต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐ (8/7), รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (8/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีน เดือนมิถุนายน (9/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของจีน เดือนมิถุนายน (9/7), รายงานยอดดุลการค้าของเยอรมนี เดือนพฤษภาคม (9/7), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (9/7), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนมิถุนายน (10/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.1/0.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -0.90/-0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ