ราคาน้ำมันดิบปรับลดจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และกลุ่มโอเปกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

– ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหลัง Baker Hughes ได้รายงานตัวเลขจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 แท่นขึ้นมาแตะระดับ 750 แท่น โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์

– นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันดิบของอิรักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือน กันยายนที่ผ่านมา จากระดับ 3.22 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำมันดิบที่ส่งออกทั้งหมดของอิรักมาจากแหล่งน้ำมันดิบทางตอนใต้ของประเทศ

– ทั้งนี้ Reuters Survey ได้รายงานว่าการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเป็นผลมาจากการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากอิรักและลิเบีย ซึ่งเป็นสองประเทศที่ได้รับการยกเว้นการจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก

+ อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินสำหรับการขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดในประเทศลิเบียและอาจจะส่งผลทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับตัวลดลงได้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกจากที่มากขึ้นจากสิงคโปร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศอียิปต์

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังจากได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในประเทศจีนที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงในเดือนนี้ เนื่องจากกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นของการใช้รถบรรทุกสำหรับการเตรียมพร้อมในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติของจีนกลางเดือนนี้

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจับที่น่าจับตามอง

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันคุ้มทุนที่จะเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐในเดือนต.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นราว 79,000 บาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา แตะระดับ 6.083 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากการกลับมาดำเนินการอีกครั้งของผู้ผลิตในพื่นที่ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก หลังผ่านช่วงการพัดถล่มของพายุ Harvey

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการผลิตและการนำเข้าน้ำมันดิบทื่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการกลั่นทรงตัว หลังโรงกลั่นส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุ Harvey กลับมาดำเนินการเต็มกำลังตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ประเทศอิรัก หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก จัดการลงประชามติเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าประชามติครั้งนี้จะยังไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับนานาประเทศ รวมถึงรัฐบาลอิรัก และประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ตุรกี และอิหร่าน ซึ่งเกรงว่าการกระทำครั้งนี้จะทำให้ชาวเคิร์ดในประเทศอื่นในตะวันออกกลางกระทำตาม และล่าสุดนาย Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีตุรกี ขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น