ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชู 5 ตัวอย่างมาตรการต่อลมหายใจ SMEs หลังจบ “พักหนี้”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ เรื่อง “ต่ออายุมาตรการช่วย SMEs…ต่อลมหายใจระบบเศรษฐกิจการเงิน” โดยมองว่า ภายในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2563 นี้ จะเป็นช่วงรอยต่อสำคัญสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากมาตรการพักชำระหนี้จะสิ้นสุดลง ซึ่งด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จึงทำให้อาจมีความจำเป็นที่ทางการไทยคงต้องพิจารณาต่ออายุโครงการ หรือออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

ซึ่งตัวอย่างมาตรการในต่างประเทศที่น่าสนใจ จะเป็นโครงการที่เน้นการรักษาตำแหน่งงาน (Job Retention Scheme) โดยตรง ซึ่งจะมีเงื่อนไขสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ หรือการอุดหนุนสินเชื่อให้เปล่าให้กับผู้ประกอบการ หากปฏิบัติตามเงื่อนไขการจ้างงานได้ตามที่กำหนด ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพและช่วยยับยั้งการชะลอตัวของการบริโภคในประเทศ ลดปัญหาเชิงสังคมจากการถูกเลิกจ้าง แต่ก็มีข้อสังเกตสำคัญ คือ การออกแบบมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตาม รวมถึงกลไกการตรวจสอบที่รัดกุม

นอกจากนี้ ก็ยังมีแนวทางการโอนขายหนี้ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเคยนำมาใช้ในไทยหลังช่วงปี 2540 อันจะช่วยลดภาระต่อเงินกองทุนของสถาบันการเงิน เพียงแต่จะบรรเทาลงไปได้เพียงใดนั้น ขึ้นกับราคาขายและเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายหนี้เช่นกัน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการผลกระทบในกรณีที่มีการต่ออายุมาตรการออกไป ก็คงช่วยให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถประคองอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงไว้ที่ประมาณ 13-14% ซึ่งแม้ว่ายังถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ทางการควรต้องพิจารณาแนวทางช่วยเหลือสถาบันการเงินควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากแม้สัญญาณเศรษฐกิจและธุรกิจอาจเริ่มดีขึ้นบ้างในปีถัดไป อันทำให้การใช้มาตรการอุดหนุนทางการเงินโดยตรงให้กับลูกค้า มีความจำเป็นลดลง ทว่าคุณภาพหนี้มักเป็นตัวแปรตาม (Laggard) เศรษฐกิจ ทำให้ยังมีโอกาสเห็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้นอยู่ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า

ซึ่งภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ที่กำหนดให้มีการตั้งสำรองฯ ที่เข้มงวด ก็อาจทำให้ภาคธนาคารฟื้นตัวช้ากว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ และปัญหาคุณภาพหนี้ ก็จะยังบั่นทอนสถานะเงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย นั่นหมายความว่า ความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะกลับเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น…ในยามที่เศรษฐกิจกำลังต้องการก็เป็นได้