ค่า​เงินบาทอ่อน​ค่าที่​ 31.31 บาท/ดอลลาร์ สัปดาห์​นี้​จับตาประชุม​นโยบาย​การเงิน​ทั่วโลก

เงินบาท

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผย​ว่า​ เงินบาทเปิดเช้าวันนี้​ (13 ก.ค.)​ที่ระดับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 31.29 บาทต่อดอลลาร์ โดย​กรอบเงินบาทวันนี้อยู่​ที่​ 31.22-31.42 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้​ ในสัปดาห์นี้​ (13-17 ก.ค.)​ มีตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าจับตาทั้งในฝั่งของจีน สหรัฐ และการประชุมนโยบายการเงินทั่วโลก​ ซึ่ง​กรอบเงินบาทรายสัปดาห์คาดอยู่​ที่​ 31.05-31.65 บาทต่อดอลลาร์

ความน่าสนใจทางเศรษฐกิจจะเริ่มตั้งแต่วันอังคาร (14 ก.ค.)​ ที่จะมีการรายงานตัวเลขการนำเข้าส่งออกของจีนประจำเดือนมิถุนายน ซึ่งตลาดคาดว่าจะเห็นการนำเข้าลดลงเหลือติดลบเพียง 9.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่าดีขึ้นจากระดับหดตัวสูงกว่า 10% ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา

ถัดมาก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันพุธ​ (15 ก.ค.)​ คาดว่าจะ “คง” นโยบายการเงินด้วยดอกเบี้ยทั้งในระยะสั้น (BOJ Policy Balance Rate) และระยะยาว (BOJ 10-Yr Yield Target) ที่ระดับ -0.1% และ 0.0% ตามลำดับ ต่อเนื่องในวันพฤหัส (16 ก.ค.)​ ก็จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางยุโรป (ECB) คาดว่าจะ “คง” อัตราดอกเบี้ย (ECB Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.5% เช่นกัน

ขณะเดียวกันในวันพฤหัส (16 ก.ค.)​ ทางการจีนก็จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสสอง คาดว่าจะมีการขยายตัวกลับมาเป็นบวกที่ 2.2% จากการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาเป็นปรกติทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 เศรษฐกิจจีนจะเหลือหดตัวเพียง 0.2% จากที่ลงไปลบลึกถึง 6.8% ในช่วงไตรมาสแรก

ฝั่งตลาดเงิน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักราว 0.7% จากภาพตลาดทุนที่เปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ส่วนในสัปดาห์นี้ เชื่อว่าดอลลาร์จะได้รับแรงหนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของ BOJ และ ECB บ้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดยังคงเป็นทิศทางของตลาดหุ้นโลก เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว และเงินหยวน (CNY) ที่เริ่มมีแนวโน้มแข็งค่า จะหนุนให้นักลงทุนกล้าเปิดรับความเสี่ยง และกดดันให้ดอลลาร์ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยอ่อนค่าลง

ด้านเงินบาท ช่วงที่ผ่านมาเคลื่อนไหวสวนทางกับดอลลาร์ เนื่องจากมีเงินทุนไหลออกของบริษัทใหญ่ ทำให้นักลงทุนสถาบันต้องลดสถานะการถือเงินบาทลง และเมื่อเงินบาทอ่อนค่าเร็วนักค้าเงินก็ต้องขายตัดขาดทุนเงินบาทตามไปด้วย


“ประเด็นดังกล่าวทำให้ เราจะมีการปรับประมาณการค่าเงินบาทในไตรมาสนี้ให้อ่อนค่าลงตามเช่นกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทมาจากปัจจัยระยะสั้น และไม่ได้กดดันภาพระยะยาว จึงยังมองว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ จากการอ่อนค่าของดอลลาร์และเศรษฐกิจฝั่งเอเชียที่ฟื้นตัวในอนาคต” ดร.จิ​ติ​พล​กล่าว​