คลังการันตีเพิ่มทุน “ธสน.” ลดเงินนำส่ง SFIF ไม่กระทบ

คลังยันลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐเหลือ 0.125% ไม่กระทบแผนเพิ่มทุน”เอ็กซิมแบงก์” 1.5 หมื่นล้านบาท ระบุเงินกองทุนปัจจุบันยังมีกว่า 2 หมื่นล้านบาท สคร.เตรียมชงบอร์ดกองทุนไฟเขียวเร็ว ๆ นี้

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) จากเดิม 0.25% ต่อปี เหลือ 0.125%ต่อปี ของยอดเงินฝากที่ได้รับจากประชาชน เป็นเวลา 2 ปี สำหรับการนำส่งเงินในรอบปี 2563-2564

ทั้งนี้ จะส่งผลให้ในรอบปี 2563 นี้ จะมีเงินส่งเข้ากองทุนเหลือราว 5,000 ล้านบาท จากเดิมที่นำส่งเข้ากองทุนประมาณปีละ 1 หมื่นล้านบาท แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มทุนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) 1.5 หมื่นล้านบาท

“ไม่กระทบต่อแผนการใช้เงินเพื่อการเพิ่มทุนของแบงก์รัฐ เนื่องจากที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการประเมินแล้วว่ากองทุนมีเงินสะสมเพียงพอ โดยขณะนี้กองทุนมียอดเงินคงเหลือกว่า 2 หมื่นล้านบาท และแผนการใช้เงินของแบงก์รัฐก็ยังดำเนินไปได้ ซึ่งขณะนี้มีเพียงเอ็กซิมแบงก์ที่มีการขอเพิ่มทุนเข้ามาราว 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณา แต่ยังไม่ได้มีการเสนอคณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้พิจารณาเพิ่มทุน” นายลวรณกล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ดำเนินการเพิ่มทุนให้กับแบงก์รัฐไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ การเพิ่มทุนให้ ธ.ก.ส. จำนวน 2 หมื่นล้านบาท, การเพิ่มทุนให้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ 6,000 ล้านบาท และไอแบงก์อีก 1.6 หมื่นล้านบาท

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า สคร.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับเอ็กซิมแบงก์ และ สศค. ถึงการขอเพิ่มทุนของทางเอ็กซิมแบงก์ วงเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าเร็ว ๆ นี้จะมีการเสนอเข้าสู่คณะกรรมการกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เพื่อให้พิจารณาเพิ่มทุนให้

ก่อนหน้านี้รายงานข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเสนออนุมัติเพิ่มทุนให้เอ็กซิมแบงก์ จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทโดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งจะดำเนินการเพิ่มทุนเป็น 2 ระยะ ปีละ 7,000-8,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารมีเงินทุนเพิ่มเป็น 3.5 หมื่นล้านบาท รองรับการปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลผู้ส่งออก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี