ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังนักลงทุนเกรง โควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักในไทย

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 31.45/47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (13/7) ที่ระดับ 31.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังปิดตลาดของเอเชียวานนี้ (13/7) โดยปัจจัยกดดันคือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สหรัฐ ซึ่งเจ้าหน้าที่ในรัฐฟลอริดาเปิดเผยว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่จำนวน 15,299 รายเมื่อวานนี้ (13/7) ซึ่งเป็นสถิติการเพิ่มขึ้นสูงสุดภายในวันเดียวในบรรดา 50 รัฐของสหรัฐนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดขณะที่ทั้งประเทศสหรัฐได้รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 รายใหม่จำนวนมากกว่า 60,000 รายติดต่อกัน 3 วัน

นอกจากนั้น นายแพทย์ทิโครส อัดฮานอม กีปรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของสหรัฐและบราซิลรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งโลกในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ บริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐและ BioNTech บริษัทยาของเยอรมนี ออกแถลงการณ์ในวานนี้ (13/7) ระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้รับสถานะ “fast track” จากสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในการทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะทำให้ทางบริษัทได้รับการผ่อนคลายกฎระเบียบจาก FDA และส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยขณะนี้ วัคซีน BNT162b1 และ BNT162b2 ถือเป็นวัคซีน 2 ตัวที่มีความคืบหน้ามากที่สุดของไฟเซอร์และ BioNTech จากทั้งหมด 4 ตัว ทั้งนี้ หากวัคซีนดังกล่าวได้รับการอนุมัติจาก FDA ทางบริษัทจะสามารถผลิตวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 และมากกว่า 1.2 พันล้านโดสภายในสิ้นปี พ.ศ. 2564

จากนั้นค่าเงินดอลลาร์กลับฟื้นตัวขึ้นเมื่อนักลงทุนหันกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนดูจะเริ่มระอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อคืนนี้ (13/7) นายไมเคิล พอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของประเทศจีน โดยนายพอมเพโออ้างว่าจีนไม่มีหลักฐานทางกฎหมายที่ชัดเจน ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่กองทัพของจีนได้ทำการฝึกซ้อมในพื้นที่พิพาทดังกล่าว ทางด้านของจีนนั้น สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงวอชิงตันออกแถลงการณ์ตอบโต้วันนี้ (14/7) ว่า คำแถลงของนายพอมเพโอนั้นไม่มีมูล และจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ เพื่อยกระดับความตึงเครียดในน่านน้ำทะเลจีนใต้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังคงปรับตัวในแนวอ่อนค่า จากความกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยหลังจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ยอมรับความเสี่ยงติดเชื้อระลอกสองใกล้เข้ามาหลังพบรอยรั่วจากผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกรณีของทหารอียิปต์ที่เดินทางเข้ามาพักใน จ.ระยอง และผลตรวจยืนยันพบการติดเชื้อ ทำให้จะต้องมีการจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.42-31.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.57/59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 1.1343/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ 13/7) ที่ระดับ 1.1306/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าต่อเนื่องแม้ว่าวันนี้ (14/7) สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีภาคอุตสาหกรรมการผลิตเดือนพฤษภาคม ออกมาหดตัวร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และสถาบันวิจัย ZEW เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจประจำเดือนกรกฎาคมของสหภาพยุโรปออกมาที่ 49.6 ทรงตัวจากคาดการณ์ และของประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก ออกมาที่ 59.3 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1340-1.1361 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1357/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/7) ที่ระดับ 107.23/26 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (13/7) ที่ระดับ 107.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เงินเยนอ่อนค่าสอดคล้องกับการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมออกมาต่ำกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.22-107.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 107.31/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐเดือน มิ.ย. (14/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักรเดือน มิ.ย. (15/7), ดัชนีภาคการผลิตเขตรัฐนิวยอร์กสหรัฐเดือน ก.ค. (15/7), ดัชนีราคาสินค้านำเข้า-ส่งออกสหรัฐเดือน มิ.ย. (15/7), การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) (15/7), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.สหรัฐ (16/7), อัตราการว่างงานสหราชอาณาจักรเดือน พ.ค. (15/7), ดุลการค้าสหภาพยุโรปเดือน พ.ค. (16/7), การประชุมธนาคารกลางสหภาพยุโรป (16/7), ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือน ก.ค. (16/7), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (16/7), ดัชนีภาคการผลิตเขตรัฐฟิลาเดลเฟียสหรัฐ เดือน ก.ค. (16/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือน มิ.ย. (17/7), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือน มิ.ย. (17/7), จำนวนใบอนุญาตก่อสร้างสหรัฐเดือน มิ.ย. (17/7), จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างสหรัฐเดือน มิ.ย. (17/7), ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือน ก.ค. (17/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.2/-0.05 สตางค์/ดอลลาร์ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 0.05/+1.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ