ชงคลังเปิดไลเซนส์ “พิโกเอสเอ็มอี” หนุนเงินทุนธุรกิจชายขอบ

สมเกียรติ จตุราบัณฑิต

สมาคมพิโกไฟแนนซ์ประเทศไทยชงคลังเปิดไลเซนส์ “พิโกเอสเอ็มอี” ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ปล่อยกู้ต่อราย 1-2 แสนบาทได้ เสนอคิดดอกเบี้ยได้ 24-28% ต่อปี หวังช่วยกลุ่ม “เอสเอ็มอีขายชอบ” 3.7 ล้านรายเข้าถึงสินเชื่อในระบบ พร้อมผุดไอเดีย “ตลาดนัดสตรีตฟู้ด” ชงนายกฯ ไฟเขียวช่วยรากหญ้าทำกิน

นายสมเกียรติ จตุราบัณฑิต นายกสมาคมพิโกไฟแนนซ์ ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาคมจะเสนอกระทรวงการคลังให้มีการพิจารณาออกใบอนุญาต “พิโกเอสเอ็มอี” ที่สามารถประกอบธุรกิจปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่ม “จุลเอสเอ็มอี” ที่มีวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 100,000-200,000 บาทขึ้นไป โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 28% ต่อปี สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และคิดอัตราดอกเบี้ย 24% สำหรับสินเชื่อที่มีหลักประกัน

โดยปัจจุบันที่ใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์สามารถปล่อยกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปี และใบอนุญาตพิโกพลัสปล่อยกู้ได้วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปีสำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาทเป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 28% ต่อปี

“เราจะเสนอกระทรวงการคลังเพื่อขอปล่อยกู้เพิ่มให้แก่กลุ่มจุลเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มเอสเอ็มอีชายขอบที่ตกสำรวจ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อของธนาคาร เนื่องจากมีวงเงินสินเชื่อที่เล็กไม่ถึง 500,000 บาท ทั้งนี้ จากการสำรวจเอสเอ็มอีกลุ่มนี้มีจำนวนประมาณ 3.7 ล้านราย” นายสมเกียรติกล่าว

นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า สมาคมพิโกไฟแนนซ์ยังเตรียมเสนอโครงการตลาดนัดสตรีตฟู้ดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีรายได้น้อยและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เบื้องต้นอยากร่วมมือกับภาครัฐในการจัดหาสถานที่ว่าง เพื่อจัดทำตลาดนัดสตรีตฟู้ด โดยเรียกเก็บอัตราค่าเช่าที่ไม่สูงมาก เช่น 200-300 บาท/เดือน และจัดทำสิทธิพื้นที่เช่าเพื่อเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต่อไปได้ในอนาคต ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอโครงการดังกล่าวได้ภายใน 1-2 เดือนนี้

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ล่าสุดในเดือน พ.ค. 2563 มีผู้สนใจยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิ 1,199 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 5 รายประกอบด้วย ผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์จำนวน 1,042 ราย และผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสจำนวน 157 ราย ทำให้นับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท รวมทั้งสิ้น 1,335 ราย ใน 76 จังหวัด

ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท สุทธิ 891 ราย ใน 73 จังหวัด และแจ้งเปิดดำเนินการแล้ว 749 ราย ใน 71 จังหวัด

ขณะที่จนถึง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2563 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 254,890 บัญชี เป็นเงิน 6,745.02 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 26,462.47 บาทต่อบัญชี มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวม 105,689 บัญชี คิดเป็นเงิน 2,591.32 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1-3 เดือน สะสมรวม 15,708 บัญชี หรือ 394.61 ล้านบาท คิดเป็น 15.23% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวม 14,928 บัญชี หรือเป็นเงิน 399.44 ล้านบาท หรือ 15.41% ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสมเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2563 ที่มียอด NPL อยู่ที่ 13.06%