บาทอ่อนค่า หลังเผชิญแรงขายต่อเนื่อง จับตา EU ประชุมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

เงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังเผชิญแรงขายต่อเนื่อง ตลาดจับตาผู้นำ EU ประชุมแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ วันที่ 4

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (20/7) ที่ระดับ 31.75/76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (17/7) ที่ระดับ 31.72/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยกอทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลง 6.6% ในปีนี้ โดยได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม IMF คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวกลับไปมีการขยายตัว 3.9% ในปี 2564 แต่อัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 7.4% ในช่วงไตรมาส 4 ของปีหน้า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาดในสหรัฐ ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.5% ในเดือน ก.พ.ปีนี้

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 73.2 ในเดือน ก.ค. สวนทางนักวิเคราะห์ที่คาดว่าดัชนีจะปรับตัวแตะระดับ 79.0 จากระดับ 78.1 นเดือน มิ.ย.

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวขึ้น 17.3% ในเดือนมิ.ย. สู่ระดับ 1.186 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.169 ล้านยูนิต จากระดับ 1.011 ล้านยูนิตในเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.75-31.84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.80/31.82 บาท/ดอลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (20/7) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1416/17 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/7) ที่ระดับ 1.1412/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันหลังนักลงทุนยังคงติดตามผลการประชุมผู้นำ 27 ชาติของสหภาพยุโรป (EU) ในประเด็นการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโร (8.57 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ EU จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19

โดยการประชุมได้ก้าวเข้าสู่วันที่ 3 แล้ว แต่ผู้นำ EU ยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นดังกล่าว หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การประชุมยังคงยืดเยื้อนั้น มาจากการที่ประเทศสมาชิกบางประเทศมองว่าเงินช่วยเหลือมีขนาดใหญ่เกินไป และไม่เห็นด้วยกับการให้เปล่า แต่ควรให้ในรูปแบบเงินกู้มากกว่า

รายงานระบุว่าสมาชิก EU ยังคงมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขในการรับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าว รวมถึงการจัดสรรเงินช่วยเหลือ และการกำกับดูแลการใช้เงิน โดยเงินส่วนหนึ่งของกองทุนดังกล่าวจะถูกจัดสรรให้แก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตการระบาดโดยไม่ต้องชำระชำระคืน และที่เหลือเป็นเงินกู้ ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น อิตาลี และสเปน จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากแผนฟื้นฟูดังกล่าว ขณะที่เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรเลีย หรือ Frugal Four (สี่ตระหนี่) คัดค้านการให้เงินแบบให้เปล่า และขอให้ประเทศที่ได้รับเงินกู้จะต้องทำการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อแลกกับการได้รับเงินกู้

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1406-1.1467 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1454/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (20/7) เปิดตลาดที่ระดับ 107.35/38 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (17/7) ที่ระดับ 107.22/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนอ่อนค่าในช่วงเช้าหลังญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลการค้า กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดส่งออกเดือน มิ.ย.ปรับตัวลง 26.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 14.4% ทั้งนี้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือน มิ.ย. ที่ระดับ 2.688 แสนล้านเยน (2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ส่วนยอดส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ทรุดตัวลงหนักสุดในรอบ 10 ปีครึ่ง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความต้องการรถยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยยอดส่งออกในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. ปรับตัวลง 15.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดนำเข้าลดลง 11.6% ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 2.24 ล้านล้านเยนในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.02-107.52 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 10719/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือน มิ.ย.จากเฟดชิคาโก (21/7) ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ค. (22/7) ยอดขายบ้านสองเดือน มิ.ย. (22/7) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (23/7) ดัลนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. จาก Conference Board (23/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นต้นเดือน ก.ค.จากมาร์กิต (24/7) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (24/7) ยอดขายบ้านใหม่เดือน มิ.ย. (24/7)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.2/+0.45 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.25/+3.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ