“คลินิกแก้หนี้” ผ่อนเกณฑ์ดึงคนเข้าร่วม-ตั้งเป้าปีนี้ 1.5 หมื่นราย

ธปท.ปรับเงื่อนไข “คลินิกแก้หนี้” ขยับวันต้องเป็น NPL ก่อน 1 ก.ค. 63 จากเดิมดีเดย์ที่ 1 ม.ค. 63 พร้อมปลดล็อกผู้เข้าโครงการก่อหนี้ใหม่ได้ก่อนครบ 5 ปี หากชำระเงินต้นได้อย่างน้อย 50% “SAM” คาดหลังปรับเกณฑ์ลูกหนี้แห่เข้าโครงการมากขึ้น คาดปีนี้ 1.5 หมื่นราย มูลหนี้ 2 พันล้านบาท

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มองไปข้างหน้า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จะส่งผลให้จำนวนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล (หนี้บัตร) มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกัน จะเป็นวาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก

โดยเฉพาะหนี้บัตร ซึ่งเป็นหนี้ที่มีจำนวนบัญชีลูกหนี้มากที่สุดในบรรดาหนี้รายย่อยทั้งหมด “ความสำคัญของแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กลางของโครงการคลินิกแก้หนี้ จึงอยู่ที่การเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้บัตรของลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้รายย่อยที่อาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดียึดทรัพย์ในวงกว้าง ซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้” นางธัญญนิตย์กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการ 2 เรื่อง คือ ปรับคุณสมบัติลูกหนี้โดยเลื่อนวันของการเป็น NPL (วัน cut-off date) จากเดิมผู้สมัครต้องเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2563 มาเป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 และการปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ จากเดิมกำหนดให้ผู้เข้าโครงการห้ามก่อหนี้ใหม่ภายในเวลา 5 ปี โดยเพิ่มเกณฑ์ว่า หากสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้อย่างน้อย 50% ก็สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี เพื่อให้โครงการสามารถขยายความช่วยเหลือ

ลูกหนี้ในวงกว้างมากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการแก้ปัญหาด้วย

“ลูกหนี้ที่เป็น NPL หากสมัครเข้ามาตรการพื้นฐานขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2 สามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนได้โดยตรงกับผู้ให้บริการทางการเงินด้วย” นางธัญญนิตย์กล่าว

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า นับตั้งแต่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้เมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ปัจจุบันมียอดสะสมของผู้เข้าโครงการ 6,200 ราย มูลหนี้ 1,500 ล้านบาท และนับแต่ต้นปี 2563 มามีเข้าโครงการ 2.8 หมื่นล้านบาทเซ็นสัญญาแล้ว 3,000 ราย เป็นมูลหนี้ 700 ล้านบาท

โดยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ได้มีการปรับลดดอกเบี้ยในโครงการคลินิกแก้หนี้ลงมาอยู่ที่ 2-5% จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 4-7% ต่อปี จนถึงเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งฐานลูกหนี้ส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ และอีก 10% เป็นอาชีพอิสระ โดยที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าโครงการสามารถแก้ไขหนี้แล้วออกจากโครงการได้ราว 10% ทั้งนี้ คาดว่าหลังมีการปรับเงื่อนไขภายในสิ้นปีนี้จะมีลูกหนี้เข้าโครงการ 1-1.5 หมื่นราย มูลหนี้ราว 2,000 ล้านบาท

“เราคาดว่าจะมีคนเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้มากขึ้น จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอ และการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ที่ขยายความช่วยเหลือ เพื่อรองรับลูกหนี้ที่กลายเป็นเอ็นพีแอลในวงกว้างมากขึ้น”

นายนิยตกล่าวด้วยว่า จากแนวโน้มNPL ที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2564 ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินครบอายุ ในภาพใหญ่ยังไม่ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการปรับบทบาทการรับซื้อหนี้ แต่ในส่วนของบริษัทได้เตรียมแผนการรับซื้อหนี้มาบริหาร ด้วยการเตรียมสภาพคล่องเงินสด ผ่านการระดมทุนหรือออกพันธบัตรไว้รองรับ ส่วนปีนี้ในครึ่งปีแรก SAM ซื้อหนี้เข้ามาบริหารแล้ว 5,000-6,000 ล้านบาท จากเป้าหมายรับซื้อทั้งปีอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ปีนี้ บริษัทตั้งเป้าระบายสินทรัพย์รอการขาย (NPA) 2,500 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกขายได้ 1,000 ล้านบาท เพื่อเก็บเงินสดไว้รับซื้อหนี้อีกทางหนึ่ง ซึ่งคาดว่าช่วงที่เหลือของปีจะขายได้ตามเป้า เนื่องจากในช่วงโควิด-19 คนยังมีความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องการทรัพย์ราคาถูกลง ซึ่งบริษัทได้ปรับราคาทรัพย์ลงราว 20-30% เพื่อกระตุ้นยอดขาย