แบงก์ตั้งสำรองพุ่ง 50% รับมือวิกฤต “โควิด” ลากยาว

ธนาคารรัฐ-เอกชน แห่อุ้มลูกหนี้รายย่อย-ออกมาตรการเฟส 2

กำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 2/63 ทรุดตัวลงค่อนข้างมาก เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์กันไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาสร้าง “วิกฤต” อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้มาก่อน โดยจากการรวบรวมข้อมูลจากแบงก์จำนวน 8 แห่ง ที่แจ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ณ 21 ก.ค.) พบว่า ภาพรวมกำไรสุทธิลดลงไปถึง 40.99% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิรวมกันแค่ 20,783.77 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงไปถึง 14,438.86 ล้านบาท

แบงก์ใหญ่กำไรทรุด

โดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ใน Q2/63 ธนาคารพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่ม 8,320 ล้านบาท หรือ 70.08% จากไตรมาสก่อน ทำให้กำไรสุทธิ Q2/63 อยู่ที่ 2,175 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 5,200 ล้านบาทหรือ 70.50%

“กำไรลดลง เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 1,000 ล้านบาท หรือ 3.56%, การลดลงของรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อ และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง”

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่าใน Q2/63 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 20,107 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.9% เมื่อเทียบกับ Q1/63 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการตั้งสำรองสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 3,829 ล้านบาท ลดลง 40.8% เมื่อเทียบกับ Q1/63

ฟาก “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ใน Q2/63 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 8,360 ล้านบาท ลดลง 24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองที่สูงขึ้น ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“โควิด-19 ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อรายได้และแนวโน้มกำไรของธนาคารในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อมั่นว่าสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งและการตั้งสำรองหนี้สูญในระดับสูง จะช่วยให้ธนาคารสามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยได้”

แห่ตั้งสำรองพุ่งรับวิกฤตลาม

ทั้งนี้ ยังพบว่า แบงก์ไทย 8 แห่งมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นถึง 54.46% ในไตรมาส 2 คิดเป็นมูลค่ารวมกันที่ 58,063 ล้านบาท โดยหากมองในแง่เม็ดเงินจะพบว่า กสิกรไทยตั้งสำรองสูงสุดที25,378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมากรุงไทยตั้งสำรอง 14,710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 164.52% ส่วนไทยพาณิชย์ตั้งสำรอง 9,734 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.73%

โดย “ขัตติยา” บอกว่า กสิกรไทยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากโควิด-19 ประกอบกับมาตรการทางการที่ให้แบงก์ช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยังต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด ธนาคารจึงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (expected credit loss)

ขณะที่ “อาทิตย์” กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนจากโควิด-19 พร้อมกับการที่ไทยพาณิชย์ยังดำเนินโครงการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ธนาคารจึงได้ตั้งเงินสำรอง 9,734 ล้านบาท ใน Q2/63

“โครงการเยียวยาภาคธุรกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาลที่คาดว่าจะเริ่มส่งผลในช่วงต่อไป จะช่วยให้ธนาคารสามารถประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ชัดเจนขึ้น และคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะสะท้อนในผลการดำเนินงานของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563” นายอาทิตย์กล่าว

เอ็นพีแอลยังไม่ใช่ของจริง

นไตรมาส 2 เอ็นพีแอลของระบบแบงก์ไทยดูจะยังไม่เพิ่มขึ้นมากนัก โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดว่าเอ็นพีแอลจะขยับขึ้นมาที่ 3.30-3.40% จากระดับ 3.05% ในไตรมาสแรก โดยต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด

ซึ่งแม้ในระยะสั้น ตัวเลขเอ็นพีแอลที่มีการรายงานออกมาจะยังไม่ขยับขึ้นมาก แต่สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (credit cost) จะขยับสูงขึ้นไปอยู่ที่กรอบประมาณ 1.65-1.90% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.46% เนื่องจากคาดว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะทำการตั้งสำรองในระดับสูงตามความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ กสิกรไทยที่ตั้งสำรองในไตรมาสแรก 1.1 หมื่นล้านบาท และในไตรมาส 2 ตั้งเพิ่มขึ้นอีก 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นต้น ซึ่งการตั้งสำรองจะต้องมองไปข้างหน้า (forward-looking) มากขึ้นตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (TFRS9) แม้ว่าเกณฑ์การผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของ ธปท. จะช่วยบรรเทาภาระจากการให้ความช่วยเหลือลูกค้าก็ตาม

หวั่นเอ็นพีแอลทะลัก Q3

“ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ” ผู้ช่วยผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า กำไรงวดไตรมาส 2/63 ของกลุ่มแบงก์ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ โดยเฉพาะกสิกรไทยที่ออกมาต่ำมาก ซึ่งมาจากการตั้งสำรองหนี้ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าเอ็นพีแอลจะยังไม่ปรากฏ โดยพบว่ากสิกรไทย และกรุงไทย ตั้งสำรองหนี้สูงสุด

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปต้องติดตามตัวเลขเอ็นพีแอล ที่ปัจจุบันถูกหยุดไว้จากมาตรการพักชำระหนี้ โดยในไตรมาส 3/63 มีความเป็นไปได้ 2 ทาง ทั้งลูกหนี้ตกชั้นเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น หรืออาจจะเห็นการกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา

“ตอนนี้ยังประเมินลำบากว่าแต่ละแบงก์ต้องตั้งสำรองเพิ่มหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่ามีสัดส่วนลูกหนี้ที่ขอพักหนี้มีมากแค่ไหน เช่น กสิกรไทยที่ตั้งสำรองสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท ต่อไปในไตรมาส 3 อาจเห็นตั้งสำรองลดลง เหลือ 1.4-1.5 หมื่นล้านบาท”

ธปท.จับตาหลังจบ “พักหนี้”

ขณะที่ “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า ผลประกอบการแบงก์ที่ปรับลดลงโดยหลัก ๆ เป็นผลมาจากการล็อกดาวน์ (ปิดเมือง) ประกอบกับสถาบันการเงินต้องเพิ่มความรัดกุมในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่รายได้ลดลงจากมาตรการพักชำระหนี้ และค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการตั้งสำรองหนี้ ซึ่งระยะต่อไปต้องรอดูสถานการณ์หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สิ้นสุดลง

“เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นก็เป็นไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ต้องติดตามสถานการณ์ธนาคารพาณิชย์ในการเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากมาตรการพักหนี้จะจบลงภายในเดือน ต.ค.นี้ อย่างไรก็ดี สถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับแข็งแรง พร้อมช่วยเหลือลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิด โดยตอนนี้มีแบงก์ส่งผลทดสอบความแข็งแกร่งในภาวะวิกฤต (stress test) เข้ามาบางส่วนแล้ว ซึ่งเราก็ต้องมาดูว่าผลเป็นอย่างไรต่อไป”

จากภาพทั้งหมดนี้ หากวิกฤต “โควิด” ยังไม่สิ้นสุด ผลประกอบการของแบงก์ก็มีโอกาสจะทรุดต่ำลงไปได้อีกในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครประเมินหนี้เสียที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นหลังหมดช่วงพักหนี้ได้