แนวโน้ม “ค่าเงินบาท” พลิกอ่อนค่า ต่างชาติกังวลเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจ

ค่าเงินบาท

“TMB Analytics” เผยเทรนด์เงินบาทพลิกกลับมา “อ่อนค่า” ล้อไปกับภูมิภาค เหตุปัจจัยในประเทศ “เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจยกแผง-ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง” คาดช่วงที่เหลือของปีเคลื่อนไหวในกรอบ 31.5-32 บาท/ดอลลาร์ ฟาก “ซิตี้แบงก์” หั่นจีดีพีไทยหดตัว -6.8% เก็งดอกเบี้ยนโยบายคงที่ 0.5% ยาวถึงต้นปี 2565

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า ช่วงเดือน ก.ค.นี้ ค่าเงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องโดยอ่อนค่าไป 2.6% เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจากเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียที่อ่อนค่า 3.45% สวนทางกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่ล้วนแข็งค่า อาทิ หยวนที่แข็งค่า 1.15% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตดีกว่าคาด, เปโซของฟิลิปปินส์ที่แข็งค่า 1.03%, ริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่า 0.54%, วอนของเกาหลีที่แข็งค่า0.38% เป็นต้น

โดยปัจจัยที่เงินบาทกลับมามีทิศทางอ่อนค่านั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจของประเทศไทยทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจ ว่านโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะยังเดินหน้าได้ต่อเนื่องหรือไม่ และอีกปัจจัย คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มลดลง และมีการขาดดุลในบางเดือน

“เดือน ก.ค.นี้ เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่า จากก่อนหน้านี้เราแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค ซึ่งก็น่าจะดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะส่งออกไปจีน ที่เดือน พ.ค.โตได้ 15% ส่วนการท่องเที่ยวคงไม่ได้ประโยชน์ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ซึ่งการอ่อนค่าของเงินบาทรอบนี้ ไม่ใช่เพราะดอลลาร์แข็ง แต่เราอ่อนเอง”

นายนริศกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 31.5-32 บาท/ดอลลาร์ โดยตอนนี้ถือได้ว่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับภูมิภาคแล้ว อย่างไรก็ดี ความผันผวนจะยังคงมีค่อนข้างสูง ซึ่งต่างจากปีก่อนที่เงินบาทแข็งค่าขาเดียว

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงิน ยังต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้คาดว่ายังมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อรับมือผลกระทบโควิด-19 ทั้งนี้ กรอบเงินบาทปีนี้คาดอยู่ช่วง 31.0-31.3 บาท/ดอลลาร์

ขณะที่ซิตี้แบงก์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ลงจากเดิมที่คาดหดตัว -3.5% เป็นหดตัวมากขึ้นที่ -6.8% จากผลกระทบโควิด โดยยิ่งเปิดประเทศช้า เศรษฐกิจไทยก็ยิ่งฟื้นยาก เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและส่งออกค่อนข้างมาก นอกจากนี้ คาดาว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 0.5% ไปจนกระทั่งถึงต้นปี 2565