KKP หวั่นโควิดไม่จบลามสู่ปัญหาหนี้-คนตกงาน 4-5 ล้านคน ดึงจีดีพีลงลึก -12%

Photo by Mladen ANTONOV / AFP

KKP ชี้ จับตา 3 ปัจจัย การระบาดโควิดระลอก 2-ท่องเที่ยววูบฉุดรายได้หด หวั่นคนตกงาน 4-5 ล้านคน กระทบความสามารถการชำระหนี้-นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก-ไทยจำกัด หลังอัดฉีดสภาพคล่องมหาศาล 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงเท่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉุดจีดีพีทั้งปีลงลึก -12-15% จากประมาณการ -9%

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 ยังมี 3 ปัจจัยที่ต้องจับตามอง คือ 1.สถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งไม่รู้จะจบเมื่อไร แม้ว่าไทยจะไม่พบผู้ติดเชื้อแล้ว 60 วัน แต่ทั่วโลกมียอดติดเชื้อสูงถึง 17 ล้านคน เสียชีวิต 6 แสนคน และติดเชื้อใหม่สูง 2 แสนคนต่อวัน ซึ่งเป็นความเสี่ยงขนาดใหญ่ แม้จะคาดการณ์ได้ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะผ่านช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว โดยทั้งปีประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) -9%

และ 2.เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพไปอีกสักระยะ เนื่องจากมีความกังวลการติดเชื้อ เนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศค่อนข้างมาก และสร้างรายได้ให้กับประเทคคิดเป็น 12% ของจีดีพี โดยในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวสูง 40 ล้านคน แต่ในปีนี้จะเห็นว่าเข้าเดือนมีนาคมที่เริ่มมีโควิด-19 และทยอยล็อกดาวน์ทำให้นักท่องเที่ยวเป็น 0 และคาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาสที่ 4 แต่หากไม่กลับมาจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจซ็กเตอร์การท่องเที่ยว และทำให้มีการว่างงานสูง 4-5 ล้านคน และกระทบต่อไปยังการชำระหนี้ได้ เพราะ 1 ใน 3 หนี้ในระบบได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือคิดเป็น 12 ล้านบัญชี มูลค่าหนี้กว่า 6.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นความท้าทายของภาคสถาบันการเงิน

ส่วน 3.ข้อจำกัดในการดำเนินนโยบาย จะเห็นว่ารัฐบาลทั่วโลกใช้การกระตุ้นผ่านการอัดฉีดสภาพคล่องมากกว่า 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเป็นประวัติการณ์เทียบเท่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นเดียวกับไทยที่มีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 41% ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2563 นอกจากนี้ ธนาคารกลางในต่างประเทศได้อัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาล เช่น สหรัฐฯ อัดฉีดสูงถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับปี 2551-2552 ซึ่งใช้ระยะเวลาในการอัดฉีดถึง 6 ปี แต่ครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ดังนั้น หากโควิด-19 ไม่จบจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายในอนาคตได้

นอกจากนี้ยังมี 2 ปัจจัยที่ต้องระวัง คือ 1.ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ หากเข้าสู่สงครามเย็นอีกรอบ แม้ว่าเรื่องสงครามการค้าระหว่างประเทศจะจบลง แต่จะมีเรื่องในมิติอื่นๆ เช่น แบนเทคโนโลยี ปัญหารัฐภูมิศาสตร์ รวมถึงตลาดหุ้น จะมีความตึงเครียดมากขึ้น และ 2.ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างความไม่แน่นอนหลายประเด็นที่อาจจะนำไปสู่ความไม่แน่นอนด้านนโยบาย และอาจมีผลต่อนโยบายเศรษฐกิจไทย เช่น การตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP (Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership) หรือความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกของไทย ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องเกาะติด

“เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะมี 3 เรื่องที่ต้องลุ้น และ 2 เรื่องที่ต้องระวัง โดยประเด็นสำคัญหากนักท่องเที่ยวไม่กลับมา และการล็อกดาวน์กระทบอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออกที่ตัวเลข 2 เดือนติดลบมากกว่า 10% ดังนั้น หากทุกอย่างไม่กลับมาคาดว่าจีดีพีจะลงลึก -12-15%”