ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า ก่อนการแถลงการณ์ของประธานเฟด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 4 ตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.32/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (3/10) ที่ระดับ 33.42/44 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง จากการที่นักลงทุนเทขายค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำกำไร นอกจากนี้นางเจเน็ต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุที่คณะกรรมการกำกับดูแลเสถียรภาพทางการเงินของสหรัฐ (FSOC) ได้ตัดสินใจถอดชื่อบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป (AIG) ซึ่งเป็นบริษัทประกันรายใหญ่ของสหรัฐ ออกจากบัญชีรายชื่อบริษัทที่ต้องถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดนั้น เป็นเพราะบริษัท AIG ได้ปรับลดขนาดสินทรัพย์ลงกว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ AIG มีความเสี่ยงที่น้อยลงต่อระบบการเงินของสหรัฐ ทั้งนี้นางเจเน็ต เยลเลน กล่าวว่า ธนาคารและบริษัทประกันภัยรายใหญ่ทุกแห่งจำเป็นต้องปรับลดขนาดสินทรัพย์ลงอย่างมีนัยสำคัญ หากธนาคารและบริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ต้องการถูกกำกับดูแลอย่างเข้มงวดในฐานะของสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยงในเชิงระบบ ในขณะที่คณะที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ยื่นรายชื่อบุคคลที่ได้รับพิจารณาจากทางคณะที่ปรึกษาให้ดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต่อจากนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดคนปัจจุบัน ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 โดยการเสนอรายชื่อบุคคลในครั้งนี้ถือเป็นขั้นตอนสุดท้าย และนับเป็นการสิ้นสุดการเฟ้นหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ รายงานระบุว่า นางเจเน็ต เยลเลน ยังคงอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณา แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้แสดงท่าทีว่าอาจจะไม่แต่งตั้งนางเจเน็ต เยลเลน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.30-33.38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะปิดตลาดที่ระดับ 33.35/37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (4/10) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1773/75 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (3/10) ที่ระดับ 1.1737/40 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในยูโรโซนปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ในเดือนสิงหาคม โดยได้แรงหนุนจากราคาพลังงานและสินค้าขั้นกลางที่ปรับตัวขึ้น โดยดัชนี (PPI) ของยูโรโซนปรับเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้นายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ออกโรงเตือนนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษว่า อย่ามองข้ามนายมิเชล บาร์นิเยร์ ผู้แทนสหภาพยุโรป (EU) ในกรณีที่มีการเจรจาต่อรองเรื่องการถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยนายฌอง คล็อด ยุงเกอร์ กล่าวว่า ยังคงมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ และเรายังไม่สามารถผลักดันให้เกิดความคืบหน้าได้มากพอ ผู้แทนการเจรจานั้นได้เดินหน้าประเด็นเรื่องสิทธิพลเรือนได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่เรื่องบทบาทของคณะกรรมการที่จะรับรองในสิทธิเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ต้องมาหารือให้ความเห็นชอบร่วมกัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1747-1.1780 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1757/59 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (4/10) เปิดตลาดที่ระดับ 112.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดในวันอังคาร (3/10) ที่ระดับ 113.12/14 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกันยายน ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 43.9 จากระดับ 43.3 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ไว้ที่ 43.5 โดยในส่วนของความเชื่อมั่นที่มีต่อการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะ 47.8 และความเชื่อมั่นในการซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นแตะ 43.5 จากระดับ 42.6 ในขณะที่สมาคมผู้ค้ารถยนต์ญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดขายรถใหม่ในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี สู่ระดับ 2.48 ล้านคัน ซึ่งเป็นสถิติที่ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยข้อมูลจากสมาคมรถยนต์ขนาดเล็กและรถจักรยานยนต์ของญี่ปุ่น ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ขนาดเล็กพุ่งขึ้น 15.1% แตะ 874,857 คัน ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เนื่องจากยอดขายรถยนต์ของนิสสันและมิตซูบิชิบางรุ่นเริ่มกลับเข้าสู่สภาพเดิม หลังจากชะงักไปเมื่อปีที่แล้ว จากผลพวงของเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการโกงข้อมูลการประหยัดน้ำมัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 112.57-112.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 112
.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนสหรัฐ ประจำเดือนกันยายน (4/9) ดุลการค้าสหรัฐ ประจำเดือนสิงหาคม (5/9) ดุลการค้าฝรั่งเศส ประจำเดือนสิงหาคม (6/9) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ ประจำเดือนกันยายน (6/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.7/-0.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือต่างประเทศอยู่ที่ +1.0/+2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ