ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง ตลาดกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 27-31 กรกฎาคม 2563 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐระหว่างสัปดาห์นั้น ได้ปรับตัวอ่อนค่าลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 2 ปีในวันพุธ (29/7) หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0-0.25% โดยแถลงการณ์ภายหลังการประชุมได้ระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในขณะนี้ โดยเฟดเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพและจะสามารถบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา

นอกจากนี้เฟดยังประกาศขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องออกไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน ขยายไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม เพื่อช่วยในการวางแผนของผู้ร่วมตลาด และสร้างความมั่นใจว่ามาตรการต่าง ๆ จะยังคงอยู่เพื่อช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ พร้อมทั้งเฟดจะยังคงถือครองพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยเฟดจะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ วงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน เพื่อสร้างเสถียรภาพต่อตลาดการเงิน

ทั้งนี้ นายเจอโรม พาเวล ได้กล่าวว่ายังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อได้ปรับเข้าสู่เป้าหมายหรือการจ้างงานเพิ่มขึ้นเข้าใกล้ระดับสูงสุดและได้เน้นย้ำถึงข้อจำกัดของนโยบายและมาตรการทางการเงินของเฟดต่อเศรษฐกิจ ซึ่งทำได้เพียงรักษาสภาพคล่องในระบบการเงิน ขณะที่มาตรการทางการคลังและสาธารณสุขนั้น เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่า ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยออกมาก็เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐ หดตัวลง 32.9% ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualized) ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขนี้ในปี 1947 เป็นต้นมา หรือครั้งใหญ่สุดในรอบอย่างน้อย 73 ปี ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลลบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาคธุรกิจสหรัฐ และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงนี้เผชิญภัยคุกคามจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

อีกทั้งกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานยอดผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้น 12,000 ราย สู่ 1,434 ราย นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากข่าวที่ว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมปื ของสหรัฐเสนอแนวคิดเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐออกไปจากำหนดเดิมในวันที่ 3 พ.ย. ถึงแม้สมาชิกสภาคองเกรสทั้งจากพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างก็คัดค้านแนวคิดนี้

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันพุธ (29/7) ที่ระดับ 31.47/48 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 31.73/74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในวันพุธ (29/7) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย. ลดลง 17.66% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ลดลง 23.80% ใน พ.ค. ซึ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI ในเดือน มิ.ย. ประกอบด้วย ยานยนต์, การกลั่นปิโตรเลียม และยางล้อ

ขณะที่ในวันพฤหัสบดี (30/7) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยปี 2563 เป็นหดตัว 8.5% หรือมีช่วงคาดการณ์ที่ -8% ถึง -9% จากเดิมคาดขยายตัว 2.8% โดยมีสาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกระทบอย่างมากต่อการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทย อีกทั้งปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 2563 เป็นติดลบ 11% จากเดิมคาดโต 1.0% ขณะที่คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ที่ 6.8 ล้านคน ลดลง 82.9% จากปีก่อน รวมไปถึงคาดการณ์จีดีพีปี 2564 ขยายตัว 4.0-5.0% และการส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ 5% โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.19-31.61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันพุธ (29/7) ที่ระดับ 1.1721/23 ดอลลาร์สหรฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 1.1606/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้มีการเปิดเผยตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเยอรมนีประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 อยู่ที่ระดับ -11.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งติดลบมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -10.9% และเมื่อเทียบเป็นรายไตรมาสจะอยู่ระดับ 10.1% ติดลบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ -9.0% อีกทั้งอัตราการว่างงานของเยอรมนีก็เพิ่มขึ้น 8.4% ในเดือน ก.ค.

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนปรับตัวขึ้นมากเกินคาดในเดือน ก.ค. ขณะที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเพิ่มขึ้นมากที่สุด แม้ผู้บริโภคมีความเห็นในเชิงลบมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1635-1.1908 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 1.1842/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดวันพุธ (29/7) ที่ระดับ 105.11/12 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (24/7) ที่ระดับ 106.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าเนื่องจากนักลงทุนได้เข้าถือสินทรัพย์ปลอดภัยจากการขัดแย้งระหว่างสหรัฐ และจีน และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ทั้งนี้ในวันพฤหัสบดี (30/7) ญี่ปุ่นเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันในเดือน มิ.ย. โดยยอดค้าปลีกลดลง 1.2% ในเดือน มิ.ย. จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการลดการใช้จ่ายสินค้าทั่วไป รวมทั้งสินค้าราคาสูง อาทิ รถยนต์ แต่การใช้จ่ายในเรื่องอาหาร, ของใช้ส่วนตัว และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงถูกทำลายเนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส แต่อัตราการลดลงก็ช้ากว่าที่คาดไว้

ขณะที่ในวันศุกร์ (31/7) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นรายงานว่า อัตราว่างงานเดือน มิ.ย. ลดลงแตะที่ระดับ 2.8% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ  7 เดือน จากระดับ 2.9% ในเดือน พ.ค. โดยข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ตลาดแรงงานของประเทศยังคงอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลเมื่อช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.17-106.18 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 104.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ