ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า หลังตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าที่คาด

เงินดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 31.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ ประจำเดือนมิถุนายนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 5.5% และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากตัวเลขเดือนพฤษภาคมที่ได้ปรับตัวขึ้น 8.5% โดยการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้น ได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19

นอกจากนี้ ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนมิถุนายน หลังจากปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือนพฤษภาคม และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE พื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.9% หลังจากดีดตัวขึ้น 1.0% ในเดือนพฤษภาคม แต่สำหรับตัวเลขรายได้ส่วนบุคคลประจำเดือนมิถุนายนนั้น ได้ปรับตัวลดลง 1.1% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าลดลง 0.5%

ทั้งนี้สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ของสหรัฐ ยังคงไม่มีความคืบหน้า โดยนายมาร์ค มีโดว์ส หัวหน้าคณะทำงานของทำเนียบขาว ได้เปิดเผยว่า พรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครตยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจฉบับใหม่ได้ และเขาคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะยังไม่สามารถตกลงกันได้ในเร็ว ๆ นี้ ในขณะที่มาตรการให้เงินช่วยเหลือพิเศษ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์กับชาวอเมริกันที่ตกงานราว 30 ล้านคนนั้น ได้หมดอายุลงเมื่อวันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งนายมีโดว์สได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสว่า “ผมมองว่าทั้งสองฝ่ายจะยังไม่สามารถตกลงกันได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและสมาชิกพรรคเดโมแครตยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว”

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ใหม่ โดยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจคงเหลือ -9.4% จากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ในช่วงเดือนเมษายนที่ -4.9% ถึง -3.4% เนื่องจากผลกระทบสำคัญเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้มีการปิดเมืองและการเลิกจ้าง ส่งผลให้กำลังซื้อในระบบหดตัวอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันได้ปรับลดมูลค่าการส่งออกไทยปีนี้ลง อยู่ที่ระดับ -10.2% นำเข้าลดลงอยู่ที่ระดับ -19.5%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ระดับ -1.5% โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.21-31.29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 1.1748/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/8) ที่ระดับ 1.1841/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยเมื่อบ่ายวันนี้ได้มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีประจำเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 51.0 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ไว้ที่ระดับ 50.0 และสำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซนประจำเดือนมิถุนายน อยู่ที่ระดับ 51.8 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ไว้ที่ระดับ 51.1 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1741-1.1789 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1753/56

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (3/8) ที่ระดับ 106.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 104.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าหลังจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อเช้าที่ผ่านมาได้มีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ระดับ -2.2% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้น และเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสเดือนตุลาคมถึงธันวาคมของปี 2558 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.60-106.43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.68/71 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ (3/8), ดัชนีภาคการผลิตจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (3/8), ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กจากสถาบันจัดารด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (4/8), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐ (4/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการกลุ่มยูโรโซน (5/8), ยอดค้าปลีกกลุ่มยูโรโซน (5/8), ดัชนีผุ้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของอังกฤษ (5/8), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ (5/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ (5/8), ดัชนีภาคบริการจากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ของสหรัฐ (5/8), การประชุมนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย (5/8), การประชุมนโยบายการเงินของอังกฤษ (BOE) (6/8), การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่น (7/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ (7/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.95/+3.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ