เก็ง ธปท.ลดนำส่ง FIDF อีก เก็บกระสุนดอกเบี้ยรับความเสี่ยง

“นักเศรษฐศาสตร์-โบรกเกอร์” มองข้ามชอตแบงก์ชาติส่อลดเงินนำส่ง FIDF อีกรอบ “อุ้มลูกหนี้-กระตุ้นเศรษฐกิจ” ส่วนประชุม กนง.รอบนี้ ฟันธงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย “เกียรตินาคินภัทร” ระบุต้องหั่น FIDF เหลือ “0%” ก่อน ค่อยลดดอกเบี้ย-ไม่งั้นแบงก์แบกต้นทุนอ่วม ฟาก “บล.กสิกรไทย” เชื่อแบงก์ชาติเก็บกระสุนดอกเบี้ยไว้รับมือความเสี่ยงในอนาคต ส่วนลด FIDF อาจรอผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตรชัย

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 5 ส.ค.นี้ น่าจะตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่ระยะต่อไปมีโอกาสสูงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้วิธีการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้เคยลดไปแล้ว 0.23% เหลือ 0.23% ซึ่งหากลดก็ควรลดจนเหลือ 0% แล้วหลังจากนั้นจึงจะใช้เครื่องมือการลดอัตราดอกเบี้ยได้

“ผมคิดว่า การลด FIDF มีโอกาสเกิดขึ้นสูง และต้องมาก่อนการลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายได้ ถ้าไม่ลด FIDF ก่อน เนื่องจากถ้าใช้การลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน จะกระทบต้นทุนแบงก์ ทำให้แบงก์ขาดทุนจากการระดมเงินทุกบาท และจะต้องลดดอกเบี้ยเงินฝากจนเหลือ 0% จากปัจจุบันที่ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% แบงก์ก็คิดดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25% ได้ เพราะรวมกับ FIDF แล้วก็ถือว่ายังเท่าทุน แต่ถ้า ธปท.ไปลดดอกเบี้ยอีกครั้ง ถึงลดดอกเบี้ยเงินฝากเหลือ 0% แบงก์ก็ขาดทุนอยู่ดี” นายพิพัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ดี หากลดเงินนำส่ง FIDF เป็น 0% ทางกระทรวงการคลังก็จะต้องรับภาระชำระหนี้ FIDF ไปก่อนเหมือนในอดีต ซึ่งก็จะเหมือนเป็นการลดภาษีชั่วคราวให้ระบบสถาบันการเงิน

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน หากสามารถทำให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีกก็จะช่วยลดภาระให้กับผู้กู้ และอีกมุมหนึ่งก็เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับมาเดินได้ด้วย

“ตอนนี้อะไรช่วยได้ ก็ต้องช่วย ซึ่งเรื่องเงินนำส่ง FIDF เป็นเครื่องมือไม่กี่อย่างที่ ธปท.มีอยู่ โดยภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ต้องการการกระตุ้น ไม่ว่าจะมองจากเงินเฟ้อที่หลุดกรอบเป้าหมาย เศรษฐกิจก็ติดลบมาก ดังนั้นอะไรที่ช่วยกระตุ้นได้ก็ต้องช่วย” นายพิพัฒน์กล่าว

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี 2563 นั้น นายพิพัฒน์กล่าวว่า มุมมองเรื่องนี้มี 2 คำถาม คือ กนง.ควรลดดอกเบี้ยหรือไม่ หรือ กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งถ้าถามตน มองว่า ควรจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพราะยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ทำได้อีก โดยเฉพาะนโยบายการคลัง แต่หากถามว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยหรือไม่ หากอ่านสัญญาณที่ส่งออกมาก่อนหน้านี้ ก็ค่อนข้างชัดเจนว่า กนง.คงไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกในปีนี้ หากสถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าที่ผ่านมา

นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า รอบนี้ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ย แต่มีความเป็นไปได้ที่ในระยะถัดไป จะมีการปรับลดเงินนำส่ง FIDF อีกครั้ง ซึ่งอาจจะลดอีกจนเหลือ 0.2-0.1% เพื่อเป็นการส่งผ่านความช่วยเหลือผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ไปยังผู้บริโภค อย่างไรก็ดี ในแง่ต้นทุนของธนาคารแทบไม่ได้รับประโยชน์จากการลดเงินนำส่ง FIDF ดังกล่าว

“ตอนนี้ ธปท.มี 2 ตัวเลือก ได้แก่ การลดเงินนำส่ง FIDF และการลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสน้อยมากที่ ธปท.จะลดดอกเบี้ย เนื่องจากต้องตุนกระสุนไว้รับความเสี่ยงในอนาคต แต่การลดเงินนำส่ง FIDF เชื่อว่าจะเห็นหลังจากที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง” นายสรพลกล่าว

ขณะที่โอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยในระยะข้างหน้าจะปรับลดลงเหลือ 0% นั้น นายสรพลกล่าวว่า ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินของไทยล้อไปกับทิศทางการทำนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า Fed พยายามปิดความเสี่ยงที่ต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0% และหันไปใช้เครื่องมือทางการเงินอื่น ๆ แทน

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ตอนนี้มีการพูดถึงกันค่อนข้างมาก เกี่ยวกับการที่ ธปท.จะใช้วิธีการลดเงินนำส่ง FIDF อีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพื่อให้แบงก์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกเพื่อช่วยดูแลลูกหนี้ ขณะที่ กนง.น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายต่อไป