แบงก์สดชื่น Q3 พลิกกำไรโต 8% โบรกชี้แรงส่งสำรองหด-รายได้ค่าฟีพุ่ง

เปิดกำไรกลุ่มแบงก์ไตรมาส 3 ยังแจ๋ว โกยทะลุ 4.9 หมื่นล้านบาท พลิกโตแรง 8% จากไตรมาส 2/60 หลังรายได้ค่าฟีเพิ่มทั้งกองทุน-ประกัน แถมสินเชื่อรายใหญ่ทยอยเบิกวงเงินกู้ ขณะที่ภาระตั้งสำหรับหนี้ลดลง ระบุส่วนต่างดอกเบี้ยยืนแกร่ง 3.1% คาดทั้งปี 2560 ทำกำไรรวม 2.08 แสนล้านบาท ส่องปีหน้าโชว์กำไรทำสถิติทะลุ 2.3 แสนล้าน โตพุ่ง 11%

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า โดยภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) ไตรมาส 3/2560 ครอบคลุมจำนวน 10 หลักทรัพย์ ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารทหารไทย (TMB), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP), ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP), บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) และแอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHBANK) โดยประเมินว่า ไตรมาส 3 นี้ จะมีกำไรสุทธิรวม 49,084 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% จากไตรมาส 2/2560 ที่ทำได้ 45,349 ล้านบาท แต่ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำได้ 51,889 ล้านบาท

สาเหตุที่กลุ่มแบงก์มีกำไรเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2560 ที่ผ่านมา เนื่องมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญของแต่ละแบงก์จะปรับลดลงโดยเฉพาะแบงก์ใหญ่ แม้แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.3% ของสินเชื่อรวม 2.คาดรายได้จากค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) เพิ่มขึ้นจากธุรกรรมต่าง ๆ อาทิ ธุรกรรมซื้อขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ตามมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์โดยรวมที่เพิ่มขึ้นสูง, การขายกองทุนรวม, ค่าฟีสินเชื่อรายใหญ่ที่เริ่มเบิกใช้วงเงินกู้มากขึ้น และ 3.คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้ในกลุ่มสินเชื่อภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มแบงก์มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทรงตัวอยู่ที่ราว 3.10%

“เราคาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์ KTB, KKP, BBL และ BAY จะโดดเด่นสุดในกลุ่มช่วงไตรมาส 3 นี้จากรายได้ธุรกิจหลักที่เติบโตและบางแบงก์สำรองหนี้ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ได้ตั้งสำรองหนี้ส่วนของ EARTH (บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ) ไปหมดแล้ว ส่วน TMB คาดว่ากำไรสุทธิจะหดตัวลงในไตรมาส 3 นี้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการลดลงของรายได้ค่าฟีจากค่าต่ออายุสัญญากับ บมจ.เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต (FWD) ที่บันทึกย้อนหลังเข้ามามากในงวดไตรมาส 2/60แล้ว” นางสาวอุษณีย์กล่าว

สำหรับแนวโน้มกำไรสุทธิช่วงไตรมาส 4/2560 ของกลุ่มแบงก์คาดว่ายังคงเผชิญแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะ KTB ที่มักมีการสำรองหนี้ค่อนข้างสูงในไตรมาส 4 ของทุกปี โดยฝ่ายวิจัยได้ประเมินกำไรกลุ่มแบงก์ปีนี้ที่ 208,212 ล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อนที่ทำได้ 200,776 ล้านบาท

“ส่วนปี 2561คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 231,292 ล้านบาท โต 11% จากสินเชื่อรายใหญ่ที่คาดจะขยายตัวได้จากการลงทุนของภาครัฐและเอกชน ทำให้สินเชื่อขยายตัวได้กว่า 7% ขณะที่ภาระตั้งสำรองหนี้มีแนวโน้มลดลงตาม NPL ส่วน NIM คาดปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.2%” นางสาวอุษณีย์กล่าว

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.อาร์เอชบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของกำไรกลุ่มแบงก์ในงวดไตรมาส 3/2560 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 เป็นผลมาจากการตั้งสำรองพิเศษของ KTB ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และค่าฟีของธุรกิจหลักทรัพย์และกองทุนที่ปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่แนวโน้มกำไรแบงก์ในช่วงไตรมาส 4/60 ประเมินว่า จะทรงตัวหรือปรับตัวลดลงเล็กน้อย หากเทียบกับไตรมาส 3/2560 เพราะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่แบงก์มีภาระการตั้งสำรองสูงจึงคาดว่าปีนี้ กำไรสุทธิของกลุ่มแบงก์น่าจะอยู่ที่ 1.73 แสนล้านบาท ลดลง 2% จากปี 2559

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ส่งผลให้เริ่มเห็นเอ็นพีแอลในกลุ่มธุรกิจส่งออกเริ่มลดลง ส่วนภาพรวม NPL ของกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ธปท.จะแถลงตัวเลขให้ทราบในเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมา ได้มีการปรับประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยใหม่ โดยปรับขึ้น GDP จาก 3.5% เป็น 3.8% ต่อปีในปี 2560 นี้ ส่วนปี 2561 ปรับจาก 3.7% เป็น 3.8% สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการกระจายหมวดสินค้าและตลาดที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้กระจุกตัวแต่รายใหญ่

“ภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นมากส่งผลต่อการจ้างงานเพิ่มในบางอุตสาหกรรม การบริโภคในภาพรวมก็มีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ กนง.ปรับประมาณการ” นายวิรไทกล่าว