ค่าเงินบาทแข็งค่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50%

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (5/8) ที่ระดับ 31.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (4/8) ที่ระดับ 31.07/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักขณะที่นักลงทุนจับตาการเจรจาระหว่างสภาคองเกรสและทำเนียบขาวเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

นอกจากนี้สื่อต่างประเทศรายงานว่า สหรัฐและจีนได้ตกลงกันที่จะจัดการเจรจาระดับสูงในวันที่ 15 ส.ค.นี้ เพื่อประเมินเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่ทั้งสองประเทศลงนามกันไปเมื่อต้นปีนี้ โดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ และนายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรีจีน จะเข้าร่วมการเจรจาซึ่งอาจจัดขึึ้นผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในกลางเดือนนี้ เพื่อประเมินเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งรวมถึงการที่จีนสัญญาที่จะนำเข้าสินค้าสหรัฐมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 2 ปี ที่จนถึงขณะนี้จีนยังไม่สามารถดำเนินการซื้อสินค้าสหรัฐในอัตราที่จะทำให้จีนบรรบุเป้าหมายในข้อตกลง แม้จีนได้เพิ่มการซื้อสินค้าต่าง ๆ ของสหรัฐในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ก็ตาม อาทิ ถั่วเหลือง, เนื้อหมู, ข้าวโพดและสินค้าเกษตรอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนถดถอยลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ แสดงความไม่พอใจจีนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19, การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง และการปฏิบัติของจีนต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงทางภาคตะวันตกของจีน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือน มิ.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 5.0% โดยได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยนักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค.ของสหรัฐ ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยในวันศุกร์ (7/8) นี้ ด้านนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 1.36 ล้านตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 10.7% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.98-31.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.99/31.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 63 หดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -9% ถึง -7% จากเดิม -8% ถึง -5% เนื่องจากมีความเป็นห่วงเศรษฐกิจไทยในช่วงข้างหน้ายังขาดแรงขับเคลื่อนสำคัญ จากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ขณะที่มาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังจะสิ้นสุดลง และสถานการณ์การจ้างงานยังเปราะบาง ทั้งนี้การปรับคาดการณ์การส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -12% ถึง -10% จากเดิม -10% ถึง -7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงคาดการณ์เดิมที่ -1.5% ถึง -1%

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุมในวันนี้ โดยคณะกรรมการฯมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่สอง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ แต่มีแนวโน้มกลับสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นและจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (5/8) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1809/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/8) ที่ระดับ 1.1803/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจยุโรปจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เนื่องจากการเจรจาที่หยุดชะงักเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่งผลให้สินทรัพย์ยุโรปมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุน  หลังกองทุนฟื้นฟูยูโรโซนวงเงิน 7.5 แสนล้านยูโรหนุนความเชื่อมั่นและจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสในสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.178-1.1830 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (5/8) เปิดตลาดที่ระดับ 105.55/58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (4/8) ที่ระดับ 105.87/90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่นักลงทุนจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงความเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.50-105.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค.จาก ADP (5/8) ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มิ.ย. (5/8) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (5/8) ดัชนีภาคบริการเดือน ก.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (5/8) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (6/8) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (7/8) สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน มิ.ย. (7/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.4/+0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.75/+4.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ