ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่า จับตามาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่

เงินดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่า หลังนักลงทุนจับตาการเจรจามาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 3-7 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 31.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 31.18/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์ แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐที่เปิดเผยในสัปดาห์นี้ ส่วนใหญ่นั้นออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ จากปัจจัยบวกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลสหรัฐ โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ โดยสถาบัน ISM ได้ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 54.2 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว จากระดับ 52.6 ในเดือนมิถุนายน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.6 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐก็ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.9 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 49.8 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งขี้ถึงภาวะขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน

นอกจากนี้ตัวเลขยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนมิถุนายน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.0% ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ก็ได้ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 50.0 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 47.9 ในเดือนมิถุนายน และดัชนีภาคบริการของสหรัฐ โดยสถาบัน ISM ก็ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.1 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2562 จากระดับ 57.1 ในเดือนมิถุนายน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 55.0 แต่สำหรับตัวเลขทางด้านแรงงานที่ได้เปิดเผยในสัปดาห์นี้ของสหรัฐนั้นยังคงอ่อนแอ โดยตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐได้เพิ่มขึ้นเพียง 167,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1 ล้านตำแหน่ง และต่ำจากระดับ 4.314 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน

ทั้งนี้นักลงทุนยังคงจับตาดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ และอัตราการว่างงานประจำเดือนกรกฎาคม ที่จะเปิดเผยในคืนวันศุกร์นี้ (7/8) โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรดังกล่าวจะอยู่ที่ระดับ 1.36 ล้านตำแหน่ง และอัตราว่างงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 10.7%

สำหรับมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจครั้งใหม่ของสหรัฐนั้น คณะบริหารขอประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และแกนนำพรรคเดโมแครต ในสภาคองเกรส ได้มีการเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายจะพยายามบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้ หลังจากที่การเจรจายืดเยื้อเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์แล้ว โดยนักลงทุนต่างจับตาการเจรจาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด แม้ว่าขณะนี้สภาคองเกรสและทำเนียบขาวเห็นพ้องกันในการมอบเงินจำนวน 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ชาวอเมริกันทุกคนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แต่ทั้งสองฝั่งยังมีความขัดแย้งเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนว่างงาน โดยพรรคเดโมแครตต้องการให้รักษาวงเงินดังกล่าวไว้ที่ระดับ 600 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสัปดาห์ แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ เมื่อวันพุธ (5/8) ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการทอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อไว้รัสโควิด-19 ระลอก 2 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2564 ตามที่ประเมินไว้ ส่วนเสถียรภาพการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ปกกติเหมือนในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

พร้อมทั้งกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ประจำเดือนกรกฎาคมได้ปรับตัวลดลง 0.98% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากที่เคยติดลบหนักตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ปี 2563 ที่ได้ปรับตัวลดลง 2.99%, 3.44% และ 1.57% ตามลำดับ โดยกระทรวงพาณิชย์มองว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไป ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้ดัชนีเงินเฟ้อรวม รวม 7 เดือนของปี 2563 (มกราคม-กรกฎาคม) ได้ปรับตัวลดลง 1.1% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักอาหารสดและพลังงานออก เดือนกรกฎาคม ได้ปรับตัวสูงขึ้น 0.39% เฉลี่ย 7 เดือน สูงขึ้น 0.34% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.97-31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 31.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 1.1748/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตบาดเมื่อวันศุกร์ (3/8) ที่ระดับ 1.1841/42 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ หลังจากที่มีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในหลายตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสหกรรมของเยอรมนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 51.0 ในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ไว้ที่ระดับ 50.0 และสำหรับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของกลุ่มยูโรโซน ก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 51.8 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ไว้ที่ระดับ 51.1

นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของเยอรมนีได้ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 55.6 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว จากระดับ 47.3 ในเดือนมิถุนายน หลังจากทรุดตัวลงแตะ 16.2 ในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ก็ได้ดีดตัวสู่ระดับ 54.7 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี จากระดับ 48.3 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนี PMI ปรับตัวเหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคบริการของยูโรโซนมีการขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1696-1.1917 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 1.1830/34 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 106.17/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (31/7) ที่ระดับ 104.76/79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าหลังจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ปี 2563 ของญี่ปุ่นออกมาอยู่ที่ระดับ -2.2% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากตัวเลขประมาณการเบื้องต้น และเป็นการหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาสครั้งแรก นับตั้งแต่ไตรมาสเดือนตุลาคม ถึงธันวาคมของปี 2558


ทั้งนี้ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากในหลายประเทศยังคงมีการติดเชื้อใหม่ของไวรัสโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.29-106.48 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 105.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ