หุ้นขนาดกลางและเล็ก ยังโดดเด่นกว่าหุ้นขนาดใหญ่

คอลัมน์ เติมความคิดพิชิตการลงทุน
โดย เอกภาวิน สุนทราภิชาติ บล.ไทยพาณิชย์

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ค.พยายามปรับตัวขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ผ่านระดับ 1,400 จุด โดยมีปัจจัยกดดันการลงทุนมาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งจำนวนผู้ป่วยที่ยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง และการระบาดในระลอก 2 จนต้องมีการ lockdown เมืองกันอีกครั้ง สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้ล่าช้าออกไป นอกจากนี้แล้ว ยังมีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนในรอบใหม่ที่กระทบต่อความสัมพันธ์และความคืบหน้าของข้อตกลงทางการค้าในเฟส 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยังได้รับปัจจัยลบจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ลดลงไป -42% YOY และ -33% QOQ ซึ่งต่ำกว่าคาด เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้ฯที่สูงขึ้นมากกว่าคาด และรายได้ค่าธรรมเนียมตํ่ากว่าคาด อีกทั้ง NIM ยังลดลงมาก ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค.กลุ่ม real sector จะเริ่มรายงานผลการดำเนินงาน ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลประมาณการของ consensus จนถึงสิ้นเดือน ก.ค.มีการทำ earnings preview แล้วราว 100 บริษัท ทำกำไรสุทธิรวมกันได้ราว ๆ 7.1 หมื่นล้านบาท ลดลง -42% YOY แต่เพิ่มขึ้น +130% QOQ โดยเป็นผลมาจากกลุ่มปิโตรเคมีที่คาดว่าจะไม่มีการขาดทุนสต๊อกน้ำมันจำนวนมากเหมือนดังเช่น 1Q/63 ที่ผ่านมา ทางด้าน consensus มีการปรับประมาณการกำไรฯปี’63 ของ SET ลงอีก 4.4% ซึ่งแสดงถึงปัจจัยภายในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในบ้านเราที่อ่อนแอ

ส่วนแนวโน้ม SET ในเดือน ส.ค. คาดว่าจะปรับตัวลงและหลุดต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด โดยมีแนวรับถัดไปแถวบริเวณ 1,270-1,280 และ 1,240-1,250 จุดตามลำดับ ส่วนการฟื้นตัวยังถูกจำกัดที่แนวต้าน 1,350-1,360 จุด โดย SET ที่มีแนวโน้มปรับตัวลงมีปัจจัยกดดันจากประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1) การกลับมาระบาดระลอก 2 ของโควิด-19 ในหลายพื้นที่ สร้างความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือน ก.ค.มีแนวโน้มชะลอตัว

2) ราคาน้ำมันคาดว่าจะเริ่มปรับตัวลงด้วยความกังวลในด้านอุปสงค์จากการกลับมาระบาดระลอก 2 ของโควิด-19 และตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงสิ้นปีกลุ่ม OPEC+ จะลดกำลังการผลิตลงจาก 9.7 เหลือ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะเป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มน้ำมัน โรงกลั่น และปิโตรเคมี ที่คาดว่าจะนำตลาดปรับตัวลง

3) ยังต้องระวังความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน จะเป็นปัจจัยที่เข้ามากระทบตลาดเป็นระยะ ๆ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงาน การปรับตัวขึ้นถูกจำกัดจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่มองว่ามีโอกาสจะกลับมาปรับตัวลง ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อตลาดดูจะไม่โดดเด่นในระยะนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เม็ดเงินยังเข้ามาเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลางและเล็กแทน

ดังนั้น ในด้านกลยุทธ์การลงทุน ผมแนะนำการเข้าซื้อในหุ้นกลุ่มขนาดกลางและเล็กแทน โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มกำไรดี ได้แก่

1) SCCC คาดว่ากำไรในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตดี จากกิจกรรมก่อสร้างฟื้นตัว ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันและถ่านหินยังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ยังมีอัตราเงินปันผลที่น่าสนใจปีละ 5.5%

2) UTP คาด 2Q/63 กำไรมี surprise เชิงบวกจากต้นทุนต่ำ และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับที่ดี ขณะที่คำสั่งซื้อเริ่มกลับมาและมีแผนเพิ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เป็นปัจจัยบวกต่อผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง

3) DRT คาดกำไร 2Q/63 โต YOY จาก order ที่มาจากช่องทาง modern trade, agent และกลุ่มประเทศ CLMV หนุนให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง อีกทั้งยังมีกำไรพิเศษรอรับรู้จากการขายที่ดินในจังหวัดสระบุรีประมาณ 10 ล้านบาท บันทึกเข้ามาใน 2Q/63

4) ILINK คาดกำไร 2Q/63 โตเด่น YOY จากการรับรู้รายได้ส่งมอบรถไฟฟ้าไร้คนขับขบวนแรก ส่วน 3Q/63 คาดได้งานใหม่โครงการสถานีไฟฟ้าย่อย และสายส่งแรงสูง

5) CPALL ซึ่งเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในไม่กี่ตัวที่ผมว่าน่าสนใจ โดยคาด 2Q/63 เป็นจุดต่ำสุดก่อนฟื้นตัว 2H/63 โดย SSS ของธุรกิจ CVS และธุรกิจ cash & carry คาดโตดีกว่ารายอื่น ๆ เพราะเป็นการจําหน่ายสินค้าจําเป็น

แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าครับ ด้วยรักและหวังดี