CIMBT ผนึกแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ เล็งปล่อยกู้ขาช้อปออนไลน์ไม่เกิน 5 พันบาท

ช้อปออนไลน์

ซีไอเอ็มบี ไทย เตรียมลุยปล่อยกู้ดิจิทัลเลนดิ้งเต็มสูบ จับมือฟินเทคพัฒนาแอปพลิเคชันปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล-สินเชื่อ Car for Cash เจาะลูกค้ารายได้ 2 หมื่นบาท ผ่อนนาน 12 เดือน พร้อมปล่อยกู้นักช้อปออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม ด้านสินเชื่อรายย่อยรับหดตัว -20-25% ยอดคงค้างทรงตัว 1.45 แสนล้านบาท เอ็นพีแอลกดไม่เกิน 3.6% ตั้งเป้าฐานโมบายแบงกิ้ง 6.3 แสนราย

นายตัน คีท จิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรายย่อยในช่วงที่เหลือของปีนี้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง โดยลูกค้าหันมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นสะท้อนผ่านปริมาณธุรกรรมช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ธนาคารจึงหันมาเน้นการเติบโตช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

โดยในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้ร่วมมือกับบริษัท 9F ฟินเทค ไทยแลนด์ จำกัด พัฒนาแอปพลิเคชัน “สินเชื่อส่วนบุคคลธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” เพื่อทดลองปล่อยสินเชื่อออนไลน์และภายในครึ่งปีหลังจะเปิดเป็นทางการ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถเปลี่ยนเงิน หรือ Car for Cash โดยลูกค้าสามารถขอสินเชื่อผ่านแอปฯ ได้ทันที แต่ในช่วงแรกอาจจะต้องยังส่งเอกสาร แต่คาดว่าภายในเดือนหน้าจะมี National Digital ID (NDID) และ e-Consent จะสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ทันที โดยกลุ่มลูกค้าเน้นรายได้ 2 หมื่นบาท ผ่อนนานสูงสุด 12 เดือน อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 13-15%

นอกจากนี้ ธนาคารจะขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ e-Commerce เพื่อปล่อยสินเชื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ซื้อของ โดยการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อจะวิเคราะห์จากพฤติกรรมการซื้อสินค้า ความถี่และวงเงินในการซื้อสินค้า โดยไม่ต้องใช้เอกสาร ซึ่งในเบื้องต้นจะให้วงเงินอยู่ที่ 5,000 บาทต่อราย แต่หากในอนาคตมีข้อมูล Data มากขึ้น วงเงินจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าที่ใช้โมบายแบงกิ้ง CIMB THAI Digital Banking อยู่ที่ 1.3 แสนราย จากฐานลูกค้าธนาคารทั้งหมด 6 แสนราย ปีนี้ตั้งเป้ามีลูกค้าใหม่ 2.5 แสนราย และลูกค้าเก่าหันมาใช้อีก 2.5 แสนราย ส่งผลทั้งปีมีฐานผู้ใช้ทั้งสิ้น 6.3 แสนราย

“เดิมก่อนจะมีโควิดเราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อดิจิทัลเลนดิ้ง 35% ของยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ ซึ่งตอนนี้อาจจะปรับเป้าใหม่ โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรที่ช่วยต่อยอดฐานลูกค้าและเพิ่มขีดความสามารถของธนาคารในการทำดิจิทัลเลนดิ้ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุน เพราะมีไลเซ่นส์ digital Lending แต่ก็ยังมีความระมัดระวังกันอยู่”

นายตัน คีท จิน กล่าวว่า สำหรับภาพรวมสินเชื่อรายย่อยในปี 2563 จะเห็นว่าสถาบันการเงินให้ความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบของปีนี้จะหดตัวราว 20-25% สอดคล้องกับธนาคารที่ทั้งปีจะหดตัว 20-25% ซึ่งปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.45 แสนล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 9 หมื่นล้านบาท สินเชื่อส่วนบุคคล 1 หมื่นล้านบาท สินเชื่อรถยนต์ 4 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 5,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งปีคาดว่าสินเชื่อคงค้างจะทรงตัวอยู่ในระดับเท่า

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.6% จากปีก่อนอยู่ที่ 3% คาดว่าภายในสิ้นปีนี้เอ็นพีแอลจะทรงตัว ส่วนหนึ่งมาจากมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้โควิด-19 ของ ธปท. และเชื่อว่าสถานการณ์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าร่วมโครงการประมาณ 35% ของฐานลูกค้าทั้งหมด และปัจจุบันพบว่ามีลูกค้า 3 ใน 4 สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ ซึ่งมีเพียง 20% เท่านั้นที่เข้าโครงการช่วยเหลือระยะที่ 2 ต่อ

อย่างไรก็ดี ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจรายย่อยในปี 2563 ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1.เน้นคุณภาพสินเชื่อและการติดตามหนี้ 2.การเป็นผู้นำด้านที่ปรึกษาทางการเงิน เน้นลูกค้าที่มีเงินฝากและการลงทุน 3 ล้านบาทขึ้นไป หรือ Preferred ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 8 หมื่นราย AUM 2.75 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) 8 ราย ถือว่าครอบคลุมตลาดและตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า

และ 3.Digital Wealth ลูกค้าซื้อกองทุนผ่านโมบายแอปได้แล้ว และไตรมาส 1 ปีหน้าลูกค้าจะสามารถซื้อประกันภัยของ FWD ได้ด้วย ส่วน 4.การร่วมมือกับพันธมิตรที่มาช่วยขยายฐานลูกค้า เช่น NEO Money ที่เป็นแอปฯ รวมหนี้ ช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ย และกลยุทธ์ 5. และ 6.จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการสาขา โดยจำนวนสาขาจากเดิมที่เคยอยู่ราว 160 แห่ง ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50-60 แห่ง เพื่อเดินหน้าดิจิทัลเต็มรูปแบบ