ดอลลาร์อ่อนค่า หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ยังมีปัญหา

เงินดอลลาร์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐยังมีปัญหา

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/8) ที่ระดับ 31.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (11/8) ที่ระดับ 30.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงหลังจากที่ความเป็นไปได้ในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็ววันนี้ริบหรี่ลง

โดยนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐกล่าวว่า จุดยืนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวระหว่างทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตยังคง “ห่างกันเป็นไมล์”

ทั้งนี้นางเพโลซีและนายชัก ซูเมอร์ แกนนำพรรคเดโมแครตในวุฒิสภา ไม่ได้พบกับนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ และนายมาร์ก มิโดว์ส หัวหน้าคณะทำงานประจำทำเนียบขาว นับตั้งแต่ที่การเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายประสบความล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ (7/8)

นางเพโลซีไม่ได้ระบุว่าการเจรจาครั้งใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด ขณะที่ยืนกรานว่า ตนจะไม่เจรจากับตัวแทนของทำเนียบขาวอีก จนกว่าจะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้ระหว่างข้อเสนอของพรรคเดโมแครตในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวต้องการให้มีวงเงินเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็คือ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ได้ออกมาประกาศว่า รัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การอนุมัติการจดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

ปธน.ปูตินกล่าวว่า วัคซีนดังกล่าวจะถูกตั้งชื่อว่า “สปุตนิก 5” เนื่องจากความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวเทียบเท่ากับความสำเร็จของรัสเซียในยุคสหภาพโซเวียตในการแข่งขันด้านอวกาศกับสหรัฐในช่วงสงครามเย็น ซึ่งสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียม “สปุตนิก” ขึ้นสู่วงโคจรเป็นครั้งแรกของโลก

ประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สินทรัพย์ปลอดภัยอื่น ๆ เช่น ค่าเงินหยวน ราคาทองคำปรับตัวลดลง สวนทางกับสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดทุนเช่นราคาหุ้น

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ถูกประกาศออกมาก็จะมีกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% เช่นกันในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนมิถุนายน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี การดีดตัวขึ้นของดัชนี CPI ในเดือนกรกฎาคมได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31.03-31.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.03/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้านี้ (13/8) ที่ระดับ 1.1806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/8) ที่ระดับ 1.1769/70 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นหลังจากที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 71.5 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 59.3 ในเดือนกรกฎาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0

การดีดตัวของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่ลงทุนนักลงทุนผ่อนคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจเยอรมนี ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1802-1.1835 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1825/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (13/8) ที่ระดับ 106.68/70 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (11/8) ที่ระดับ 106.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ตั้งแต่ข่าวประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน ออกมาเผยว่ารัสเซียขึ้นทะเบียนวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้วเป็นประเทศแรกของโลก และพร้อมนำไปใช้ได้แล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.58-106.77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.83/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของประเทศสหรัฐ (13/8) ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือนกรกฎาคม (14/8) ดัชนียอดขายปลีกพื้นฐาน (Cor Retail Sales) เดือนกรกฎาคมของประเทศสหรัฐ (14/8)


สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.65/+0.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +2.2/+3.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ