หนี้เสียแบงก์รัฐปูดแสนล้าน ต่อเวลาพักชำระหนี้ หวั่นโควิดดันNPLทะลัก

เงินกู้-หนี้เสีย

เอ็นพีแอลแบงก์รัฐ 2 เดือนปูดแสนล้าน แม้อยู่ในช่วง “พักหนี้” หวั่นเปิดตู้แช่หนี้เสียทะลัก “ธอส.-ออมสิน” นำร่องขยายเวลาพักหนี้ “เอ็กซิมแบงก์” เอาด้วยต่อเวลาต่อลมหายใจเอสเอ็มอี พร้อมเติมเงินทุนหมุนเวียนให้เพิ่มเติม หลังเอ็นพีแอลครึ่งปีแรกพุ่ง 1.77%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก แม้ว่าสัดส่วนเอ็นพีแอล (NPL ratio) จะดูลดลง แต่มูลค่ากลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือน (เม.ย.-พ.ค. 2563) ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด และรัฐมีมาตรการล็อกดาวน์เมือง พบว่า เอ็นพีแอลแบงก์รัฐขยับขึ้นค่อนข้างมาก โดยในเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้น 108,307 ล้านบาท มาอยู่ที่ 397,449 ล้านบาท จากเดือน มี.ค.ที่ยังอยู่ที่ 289,142 ล้านบาท และในเดือน พ.ค.ก็ยังค่อนข้างทรงตัวที่395,808 ล้านบาท

ขณะที่สินเชื่อที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 287,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36,398 ล้านบาท จากเดือนก่อนหน้า ส่วนเดือน พ.ค.เพิ่มขึ้นอีก 18,957 ล้านบาท มาอยู่ที่ 306,166 ล้านบาท (ดูตาราง) ทั้งนี้ ในเดือน พ.ค.สินเชื่อคงค้างของระบบแบงก์รัฐอยู่ที่ 5,122,837 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.31% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และขยายตัว 0.06% จากเดือนก่อนหน้า

“ในด้านความแข็งแกร่ง แบงก์รัฐมี BIS ratio ในเดือน พ.ค.อยู่ที่ 13.87% ถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำเนินงานในระยะต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว

หนี้เสีย(NPL)

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมาแบงก์รัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาต่อเนื่อง โดยแต่ละแห่งมีมาตรการพักชำระหนี้ 3-6 เดือน ทำให้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ยังไม่ใช่ภาพหนี้เสียทั้งหมด เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า ลูกหนี้ที่เข้ามาตรการพักหนี้แล้ว สุดท้ายจะกลับมาชำระได้เป็นปกติทั้งหมดเท่าใด และจะกลายเป็นหนี้เสียเท่าใด

“หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ยังไม่ใช่ของจริง โดยของจริงต้องดูว่าจบพักหนี้แล้วจะเป็นเอ็นพีแอลกันอีกแค่ไหน ซึ่งก็กลัวกันว่าพอเปิดตู้แช่ออกมาแล้ว หนี้เสียจะเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น แบงก์รัฐแต่ละแห่งก็มีการประกาศขยายเวลามาตรการพักหนี้ออกไปอีก” แหล่งข่าวกล่าว

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพิจารณาขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ให้กับเอสเอ็มอีทุกกลุ่ม จากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังพิจารณาด้วยว่าจะแยกกลุ่มลูกค้าเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมโดยบางกลุ่มอาจจะให้วงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม เช่น เดิมธนาคารให้สินเชื่อวงเงิน 80% ของเงินทุนหมุนเวียน ก็จะพิจารณาเพิ่มให้เป็น 90% เพื่อป้องกันความเสี่ยงไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอล ทั้งนี้ เอ็นพีแอลของธนาคาร ณ สิ้นเดือน มิ.ย.อยู่ที่ 6.37% เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่อยู่ระดับ 4.60%

“เรากำลังจัดรูปแบบมาตรการช่วยเหลือลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางว่าจะยืดหนี้ให้กับลูกค้าออกไปอีกถึงสิ้นปี 2563 หรือยืดหนี้ออกไปอีกจนถึงปีหน้า และธนาคารก็กำลังพิจารณาการแยกกลุ่มช่วยเหลือลูกค้าด้วย เนื่องจากลูกค้าบางกลุ่มแค่ยืดหนี้อย่างเดียวก็สามารถอยู่ได้ แต่ลูกค้าบางกลุ่มจะต้องมีการเติมเงินทุนหมุนเวียนให้กับเขาด้วย” นายพิศิษฐ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารมีลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ และสินเชื่อเอสเอ็มอีที่วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท เข้าร่วมมาตรการพักหนี้รวม 3.1 ล้านราย มูลหนี้รวม 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารจะต่ออายุมาตรการพักหนี้ออกไปอีกถึงสิ้นปี 2563 นี้ จากมาตรการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. โดยที่ผ่านมาเอ็นพีแอลยังไม่ได้เพิ่มมาก เพราะอยู่ในช่วงพักหนี้ แต่ธนาคารก็ได้มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผลกระทบ

ขณะที่นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. กล่าวว่า ครึ่งปีแรก ธอส.มีเอ็นพีแอล 56,827 ล้านบาท คิดเป็น 4.52% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 ที่มีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.09% หรือเพิ่มขึ้น 0.43% โดยสำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ที่จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นั้น ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาของมาตรการ 30 วัน หรือในเดือน ส.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารจะทยอยติดต่อลูกค้า เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคต และหาแนวทางช่วยเหลือให้ลูกค้ากลับมามีสถานะบัญชีปกติให้มากที่สุดต่อไป

ทั้งนี้ ลูกค้า ธอส.ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลงทะเบียนเข้า “โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ” ผ่าน 8 มาตรการ รวม 475,800 บัญชี วงเงินกู้ 473,951 ล้านบาท โดยมาตรการที่ 5 พักชำระเงินต้นและพักชำระดอกเบี้ย 4 เดือน มีลูกค้าลงทะเบียนมากที่สุดถึง 174,598 บัญชี วงเงินกู้ 151,527 ล้านบาท