ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า หลังทิศทางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังไม่ชัดเจน

เงินบาท ธนบัตร

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (10/8) ที่ระดับ 31.16/18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 31.14/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์ หลังจากที่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.763 ล้านตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.48 ล้านตำแหน่ง แต่ต่ำกว่าระดับ 4.791 ล้านตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงป็นประวัติการณ์

ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 10.2% โดยต่ำกว่าระดับ 11.1% ในเดือนมิถุนายน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.6% ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงาน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนหลังจากที่นายนสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐ กล่าวว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และสภาคองเกรส จะสามารถบรรลุข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์นี้

นายมนูชินกล่าวว่า ยังคงมีโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และกฎหมายดังกล่าวจะสามารถผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส โดยเขาเน้นย้ำว่า “ถ้าเราสามารถได้รับข้อเสนอที่ยุติธรรม เราก็จะทำข้อตกลงในสัปดาห์นี้ ผมคิดว่าพวกเขาพร้อมที่จะประนีประนอม”

แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงมา หลังจากที่ทางฝั่งของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้ออกมากล่าวว่า จุดยืนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวระหว่างทำเนียบขาวและพรรคเดโมแครตยังคง “ห่างกันเป็นไมล์”

โดยนางเพโลซีไม่ได้ระบุว่าการเจรจาครั้งใหม่จะเริ่มขึ้นเมื่อใด ขณะที่ยืนกรานว่าตนจะไม่เจรจากับตัวแทนของทำเนียบขาวอีก จนกว่าจะสามารถหาทางประนีประนอมกันได้ระหว่างข้อเสนอของพรรคเดโมแครตในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ทำเนียบขาวต้องการให้มีวงเงินเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ยังคงห่างไกลความสำเร็จอยู่พอสมควร

สำหรับตัวเลขที่ประกาศออกมาระหว่างสัปดาห์นั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% เช่นกันในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 1.0% ในเดือนกรกฎาคม หลังจากดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนมิถุนายน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบรายปี การดีดตัวขึ้นของดัชนี CPI ในเดือนกรกฎาคมได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 963,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1 ล้านราย และเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่มีการรายงานในวันนี้มีจำนวนต่ำกว่า 1 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม หลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับ 6.867 ล้านรายในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ซึ่งทางนายแลว์รี่ คุดโลว์ หัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาว คาดการณ์ว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐจะกลับสู่ตัวเลข 1 หลักในเดือนนี้ และเศรษฐกิจจะมีการขยายตัว 20% หรือมากกว่านั้นในไตรมาส 3 ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 “เศรษฐกิจกำลังดีดตัวขึ้น โดยจะฟื้นตัวเป็นรูปตัว V ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้ดีกว่าเดือนที่แล้ว” นายคุดโลว์กล่าว

โดยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่าคาดในสัปดาห์ที่แล้ว เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงานสหรัฐกำลังฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.03-31.21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/8) ที่ระดับ 31.08/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (10/8) ที่ระดับ 1.1794/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 1.1816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นสัปดาห์ ถึงแม้ว่าทาง Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนีเปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเยอรมนีกลับมาดีดตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนมิถุนายน เพราะได้แรงหนุนจากความต้องการส่งออกโดยรวมที่ยังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดโควิด-19 แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในปีนี้จะส่งผลต่ำกว่าปีก่อนอยู่มากก็ตาม

ผลสำรวจของ Ifo ได้ย้ำให้เห็นถึงมุมมองที่เป็นบวกในกลุ่มผู้ผลิตเยอรมัน ซึ่งคาดการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมการผลิตจะขยายตัวต่อไปอีกสามเดือน

สำหรับช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นมาโดยได้รับแรงหนุนจากปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศสหรัฐ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ด้วย ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีมีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 71.5 ในเดือนสิงหาคม จากระดับ 59.3 ในเดือนกรกฎาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0

การดีดตัวของดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนผ่อนคลายความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจเยอรมนี ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงฤดูร้อน

แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของค่าเงินยูโรยังเป็นไปอย่างจำกัดจากประเด็นปัญหาด้านการค้ากับสหรัฐ โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่า สหรัฐจะยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) ตามที่เคยประกาศไว้ ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับคดีการอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน โดยมูลค่าสินค้าที่จะถูกเก็บภาษียังคงอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอัตราการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินยังอยู่ที่ 15% และภาษีนำเข้าสินค้าอื่น ๆ อยู่ที่ 25%

นอกจากนี้แล้วสหรัฐจะถอดสินค้าบางรายการของกรีซและสหราชอาณาจักรออกจากรายการสินค้าเก็บภาษี และจะเพิ่มสินค้าจากฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าสู่รายการสินค้าเก็บภาษีในจำนวนเดียวกัน ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1715-1.1858 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร (14/8) ที่ระดับ 1.1805/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (10/8) ที่ระดับ 105.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/8) ที่ระดับ 105.66/68 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวในกรอบแคบในชวงต้นสัปดาห์ก่อนที่จะทยอยอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิมีร์ ปูตินออกมาเผยว่า รัสเซียขึ้นทะเบียนวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 แล้วเป็นประเทศแรกของโลก และพร้อมนำไปใช้ได้แล้ว

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงกังวลถึงการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์ได้ทำข้อตกลงกันว่า ทั้งสองประเทศจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทางซึ่งรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ประกาศใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า นายโทชิมิตสึ โมเตกิ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เขาได้ตกลงกับนายวิเวียน บาลาคริสนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ว่า ชาวญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจ ทำงาน หรือพำนักอยู่ในสิงคโปร์ เช่นเดียวกับชาวสิงคโปร์ที่ทำธุรกิจ ทำงาน หรือพำนักอยู่ในญี่ปุ่น จะสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป โดยจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวัง

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.75-107.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (14/8) ที่ระดับ 106.75/77 เยน/ดอลลา์สหรัฐ