เคทีซีนำร่องบัตรเครดิตสแกน “คิวอาร์โค้ด” รายแรกในไทย เริ่มไตรมาส 4 เพิ่มช่องทางลูกค้า “รูดปรื๊ด” เปิดแผนปี”61 บุกช่องทางออนไลน์ งัดกลยุทธ์กวาด “พันธมิตรพรึ่บ” พร้อมรับสภาพเกณฑ์ใหม่ “บัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล” กระทบกำไรปีละ 700 ล้านบาท เตรียมออกหุ้นกู้ปี”61 วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท ล็อกต้นทุนทางการเงินให้อยู่ระดับต่ำ แก้เกมรายได้ดอกเบี้ยหด-ทดแทนหุ้นกู้เก่าครบอายุไถ่ถอน
นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า เคทีซีมีแผนเปิดให้บริการคิวอาร์โค้ดบนบัตรเครดิตเพื่อชำระเงินภายในไตรมาส 4/2560 นี้ ซึ่งถือเป็นบัตรเครดิตรายแรกของประเทศไทย โดยที่ผ่านมา เคทีซีได้มีการยื่นขออนุญาตทำการทดสอบบนนวัตกรรมการเงินที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Regulatory Sandbox) กับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว ทำให้ขณะนี้ บริษัทสามารถนำระบบดังกล่าวมาใช้ได้ภายในบริษัท โดยขั้นตอนต่อไป หลังธปท.อนุมัติจะทำให้บริษัทสามารถนำระบบคิวอาร์โค้ดมาใช้กับฐานลูกค้าของบริษัทที่มีกว่า 3 ล้านบัญชี และขยายออกไปสู่ลูกค้าของธนาคาร หรือสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (น็อนแบงก์) อื่น ๆ ได้ด้วย
“ล่าสุดบริษัทได้ขออนุญาตเข้าไปทดสอบใน Sandbox ซึ่งแบงก์ชาติได้อนุมัติทางวาจาไปแล้ว ขณะที่การขอใบรับรองจากทางวีซ่าก็ได้อนุมัติแล้ว เหลือมาสเตอร์การ์ดที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เราคาดว่าน่าจะพิจารณาแล้วเสร็จได้ทันภายในช่วงไตรมาส 4 พร้อม ๆ กับที่่แบงก์ชาติจะเปิดให้เราใช้คิวอาร์โค้ดชำระเงินอย่างเป็นทางการ” นายระเฑียรกล่าว
สำหรับการเปิดให้บริการคิวอาร์โค้ดจะส่งผลดีต่อผู้บริโภค มีทางเลือกในการชำระเงินที่สะดวกมากขึ้น แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่เห็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้นมากนัก จากการติดตั้งระบบคิวอาร์โค้ด เพราะผู้ใช้บัตรอาจยังไม่คุ้นชินกับระบบดังกล่าว แต่ในระยะยาวเชื่อว่า น่าจะเป็นตัวที่เพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรได้อย่างดี
นายระเฑียรกล่าวถึงแผนธุรกิจของเคทีซีในปี 2561 ว่า จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ๆ แบบไม่มีขีดจำกัด ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรทางการตลาด กลุ่มสตาร์ตอัพ ฟินเทค หรือกลุ่มร้านค้าที่มีจุดแข็งและพร้อมที่จะทำงานร่วมกับเคทีซี เพื่อนำเสนอบริการและรองรับธุรกรรมการเงินที่ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยในระยะต่อไปจะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการหาลูกค้า การทำการตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล
ส่วนมาตรการการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. ในส่วนของบัตรเครดิตที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 18% จากเดิมกำหนดที่ 20% และบัตรสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการคุมวงเงินอนุมัติไม่เกิน 1.5 เท่า
สำหรับผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน และจำกัดจำนวนการถือบัตรไม่เกิน 3 สถาบันการเงินนั้น นายระเฑียรกล่าวว่า การประเมินในเบื้องต้น จากดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่ลดลง 2% คาดว่าจะกระทบต่อกำไรในของเคทีซี ต่อปีอยู่ที่ราว 700 ล้านบาท (ก.ย.60-ก.ย. 61)
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้บริษัทจะเริ่มได้รับผลกระทบจาก รายได้ดอกเบี้ยที่ลดลง แต่ก็ยังเชื่อว่า ปีนี้บริษัทจะรักษาระดับการเติบโตของรายได้และกำไรได้ตามเป้าหมายที่ 10% จากการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
“จากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ทำให้บริษัทปรับกระบวนการรับลูกค้ามากขึ้น โดยเน้นเจาะกลุ่มเซ็กเมนต์ที่รายได้ระดับ 30,000 บาทขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและมีหนี้เสียต่ำ และเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ของ ธปท.โดยปัจจบันฐานลูกค้าของเคทีซีเกือบ 70 % จะเป็นกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท ส่วนเอ็นพีแอล (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) รวมอยู่ที่ 1.57% จะแยกเป็นเอ็นพีแอลของส่วนบัตรเครดิต ประมาณ 1.22% และสินเชื่อบุคคลราว 0.88% ซึ่งสิ้นปีนี้ก็คาดว่า เอ็นพีแอลก็น่าจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวต่อไป”
นายชุติเดช ชยุติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน เคทีซี กล่าวว่า จากผลกระทบจากเกณฑ์ใหม่ของ ธปท.ทำให้เคทีซีต้องหันมาดูแลต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพื่อชดเชยส่วนของรายได้จากดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่คาดว่าจะลดลง ประกอบกับเห็นว่าภาวะแนวโน้มดอกเบี้ยโลกและไทยในระยะข้างหน้ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงมีแผนออกหุ้นกู้ระยะยาวอายุ 5-10 ปี เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงินให้อยู่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 บริษัทจะออกหุ้นกู้วงเงิน 12,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 8,000 ล้านบาทมาชดเชยหุ้นกู้เดิมที่หมดอายุ ส่วนที่เหลือออกมาเพื่อบริหารต้นทุนทางการเงิน ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นทุนทางการเงินของเคทีซีอยู่ที่ 3.2-3.2%