บสย. เตรียม 1.5 แสนล้านบาท ช่วยค้ำประกันเอสเอ็มอี 1 แสนราย

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย. ได้เตรียมออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล (PGS9) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท เพื่อเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งจากวงเงินดังกล่าว จะกันไว้จำนวน 5 หมื่นล้านบาท สำหรับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ตกชั้นและกำลังจะตกชั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวจะทำให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีได้กว่า 1 แสนราย

“คาดว่าโครงการนี้จะออกมาได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2563 ซึ่งถือเป็นการรับช่วงต่อ หลังจากที่มาตรการพักชำระหนี้ของรัฐบาลจะสิ้นสุดลง โดยขณะนี้มียอดหนี้ในระบบสถาบันการเงินที่พักชำระเงินต้นอยู่ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท จาก 10 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ราว 40% เป็นหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอีที่อาจจะตกชั้นเป็นหนี้เสีย ขณะที่ยอดหนี้เสียในปัจจุบันอยู่ที่ 5.98% หาก บสย.ออกโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS9 เชื่อว่าจะช่วยลดหนี้เสียลงเหลือ 5.6%”

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กรกฎาคม) บสย. ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยมียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 167 เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน มีการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อ จำนวน 98,221 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 222 ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ตามโครงการย่อย ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs สร้างไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ดีแน่นอน และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs บัญชีเดียว

นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างเดือน มีนาคม – 17 สิงหาคม 2563 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ SMEs ค้ำประกันสินเชื่อ ได้จำนวน 117,508 ราย โดยจำแนกลูกค้าตามโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 49,869 ล้านบาท จำนวน 21,004 ราย และโครงการทั่วไปภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 อีกจำนวน 35,694 ล้านบาท จำนวน 13,143 ราย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง จำนวน 2,601 ล้านบาท จำนวน 406 ราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มอาชีพอิสระ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 3 วงเงิน 6,547 ล้านบาท จำนวน 82,955 ราย

สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (18 ส.ค.) มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SMEs ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

ทั้งนี้ บสย. ยังดำเนินโครงการช่วยผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวน 4 โครงการได้แก่ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 1,400 ราย 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs 2,400 ราย

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะ โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้ 12,000 ราย และ4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs 240 ราย