เล็งขยายคุ้มครองเงินฝากอีมันนี่ คาดศึกษาแล้วเสร็จ Q4 ปีนี้

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จ่อศึกษาขยายความคุ้มครองธุรกิจ e-Money คาดชัดเจนไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมดำเนินการแก้เกณฑ์เปิดรับ ชี้ความเสี่ยงต่ำ เหตุปล่อยกู้ไม่ได้

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) เปิดเผยว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการขยายความคุ้มครองเงินฝากในกลุ่มประเภทเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เช่น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) หรือบัตรเติมเงิน (Prepaid) เป็นต้น จากเดิมที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครอง โดยคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ในปี 2563 และขั้นต่อไปสามารถแก้เกณฑ์ภายในได้เลย และพูดคุยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์
ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์

ทั้งนี้ จากการศึกษาการคุ้มครองในกลุ่ม e-Money จะพบว่าในต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ และไต้หวัน ได้ให้ความคุ้มครองกลุ่ม e-Money ที่เรียกว่า Pass Through โดยพบว่าสถาบันการเงินที่มีปัญหา แต่ถือ e-Money อยู่ก็ต้องแจ้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อดูว่าใครถือ e-Money บ้าง ซึ่งในต่างประเทศกลุ่ม e-Money จะต้องส่งเงินนำส่งเข้าสะสมในสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ในไทยจะเห็นว่าหาก e-Money เกิดมีปัญหา ไม่มีใครรู้ว่าจะเอาเงินคืนที่ไหน เพราะไม่มีตัวกลาง ถ้าเทียบกับเงินฝากที่ยังมี DPA

“เราจะเห็นว่า e-wallet เป็นเงินที่ไม่ได้เสี่ยง เพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดกติกาว่าผู้ประกอบการจะต้องกันเงินส่วนนี้ออกจากเงินฝากปกติ และผู้ประกอบเองเงินส่วนนี้ก็ปล่อยสินเชื่อ เมื่อมีคนมาฝาก 100 บาท ก็ต้องเก็บไว้ 100 บาท เมื่อเทียบกับเงินฝากแบงก์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 82% คือ ฝาก 100 บาท แต่เอาไปกู้ได้ 82 บาท ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเอ็นพีแอลด้วยซ้ำ”

ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจ e-Money ที่ได้รับการอนุมัติจาก ธปท. มีอยู่ 26 ราย