ดันลดหย่อนภาษีประกันสุขภาพ ชง “ปรีดี” ขยับวงเงินจูงใจคนซื้อ

ออกกำลังกาย
เครดิตภาพ : www.nytimes.com

ธุรกิจประกันชง “ปรีดี” เพิ่มลดหย่อนภาษี “ประกันสุขภาพ” แยกวงเงินออกจากรายการลดหย่อนประกันชีวิต หวังช่วยจูงใจประชาชนซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น ชี้ช่วยลดพึ่งพิงการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐ ฟาก “กรุงเทพประกันชีวิต” แนะรัฐทบทวนเก็บภาษีธุรกิจประกันให้เป็นธรรม

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้หารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทยถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพ จากปัจจุบันที่ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท โดยทางสมาคมประกันชีวิตไทยได้เสนอให้แยกวงเงินลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพ ออกจากวงเงินลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิตไม่เกิน 1 แสนบาท จากปัจจุบันให้นับอยู่ในวงเงินเดียวกัน

เนื่องจากสมาคมประกันชีวิตไทยเห็นว่าการทำประกันสุขภาพและการทำประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน โดยการซื้อประกันสุขภาพจะเป็นการส่งเสริมให้คนซื้อเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล ในขณะที่การทำประกันชีวิตเป็นการออมเงินและคุ้มครองชีวิตในระยะยาว ทั้งนี้ ทางสำนักงาน คปภ.จะเสนอข้อมูลต่อนายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลังคนใหม่ต่อไป

“แม้สถิติการลดหย่อนภาษี จะยังใช้สิทธิไม่เต็มวงเงิน 1 แสนบาท ตามข้อมูลกรมสรรพากร แต่อยากให้รัฐทบทวนแยกออกมาเป็น 2 ก้อน เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะดีต่อประเทศ เนื่องจากเป็นการจูงใจให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพิงการรักษาโรงพยาบาลรัฐได้มาก ไม่อยากให้มองแค่ตัวเลขการเสียภาษีอย่างเดียว เพราะจริง ๆ แล้วคนที่เสียภาษีก็ไม่ได้มีมากแค่ 5-10%” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ทาง คปภ.ได้ให้ภาคธุรกิจส่งข้อมูลเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันสุขภาพ ย้อนหลัง 5 ปี แต่ทางสมาคมมีการเก็บข้อมูลย้อนหลังไว้แค่ 2 ปี ซึ่งก็ได้รวบรวมส่งข้อมูลไปให้ทาง คปภ.พิจารณาแล้ว โดยปี 2562 ที่ผ่านมา เบี้ยประกันสุขภาพในธุรกิจประกันชีวิตมีอยู่ทั้งสิ้น 75,000 ล้านบาท

ม.ล.จิรเศรษฐ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต ในฐานะอุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีกลุ่มคนจำนวนมากที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเต็มวงเงิน 1 แสนบาทแล้ว จึงไม่มาซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม เพราะไม่เกิดแรงจูงใจ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ธุรกิจประกันจึงอยากให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันสุขภาพได้ง่ายขึ้น ในราคาที่ไม่แพง ฉะนั้นแรงจูงใจจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจะเข้ามาช่วยได้อย่างมาก

“แม้บริษัทประกันจะเป็นผู้ออกใบรับรองการชำระเบี้ยประกัน แต่ปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วลูกค้าไปลดหย่อนภาษีกี่เปอร์เซ็นต์ กี่คน และเฉลี่ยเท่าไหร่ ทำให้เราไม่มีข้อมูลที่จะไปใช้เป็นหลักฐานในการขอกรมสรรพากร ซึ่งอาจต้องตั้งสมมุติฐานขึ้นมา” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

ม.ล.จิรเศรษฐกล่าวด้วยว่า ต้องการให้ภาครัฐทบทวนระบบจ่ายภาษีระหว่างธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยใหม่เพื่อให้เป็นธรรมด้วย จากปัจจุบันสินค้าประกันสุขภาพขายผ่านบริษัทประกันวินาศภัย จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในขณะที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายได้ลงทุน ส่งผลให้สินค้าประกันสุขภาพรายย่อยแข่งขันลำบาก

“เวลาที่เราขายประกันไมโครอินชัวรันซ์/อุบัติเหตุ สมมุติเบี้ยประกัน 99 บาท ธุรกิจประกันชีวิตต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 20 บาท คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (flat rate) ในขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยเสีย VAT 7% ซึ่งจ่ายภาษีแค่ 7 บาท ฉะนั้นถ้าเป็นเบี้ยรายย่อย เราทำราคาแข่งไม่ได้ เพราะเจอภาษีเข้าไปหนัก ยังไม่รวมค่าสินไหม (เคลมประกัน) ฉะนั้นต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไหน ๆ ก็จะแยกประกันสุขภาพออกมาเป็นกฎหมายใหม่อยู่แล้ว” ม.ล.จิรเศรษฐกล่าว

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี คปภ. กล่าวว่า ความคืบหน้าการยกร่างกฎหมายประกันสุขภาพ ขณะนี้ คปภ.ได้จัดจ้างให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยเทียบเคียงรูปแบบของการประกันสุขภาพและผลิตภัณฑ์ประกันภัยของต่างประเทศ เพื่อนำเสนอแนวทางการประกันสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยกำหนดให้ศึกษาโมเดลระบบประกันสุขภาพภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จมาอย่างน้อย 4 ประเทศ เพื่อนำมาคัดเลือกโมเดลที่จะเกิดผลดีที่สุดต่อทุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศ ซึ่งกำหนดกรอบระยะเวลาต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี หรือภายในเดือน ส.ค. 2564

“เราจะวางแนวทางในการกำกับดูแลประกันสุขภาพ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเข้ามาทดสอบผ่านสนามทดสอบ (sandbox) ของ คปภ.มากขึ้น นอกจากนี้จะนำแนวทางที่สมาคมประกันชีวิตไทยได้เสนอให้บริษัทประกันชีวิตสามารถขายประกันสุขภาพเดี่ยวเข้ามาพิจารณาด้วย เนื่องจากมองว่าระบบประกันสุขภาพของไทยน่าจะต้องมีการพัฒนาให้เกิดความชัดเจนหลายส่วน

อาทิ กรมธรรม์ระยะยาวหน้าตาควรเป็นอย่างไร สัญญาต่ออายุได้หรือไม่ได้ การบริหารจัดการต้องดำเนินการอย่างไร กรณีไหนควรปรับเบี้ยหรือไม่ควรปรับเบี้ย ซึ่งเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา คปภ.ได้เปิดโครงการไปแล้ว” นายอดิศรกล่าว