ธปท. เผยนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่ำกว่าเป้า 1.3 ล้านคน จ่อปรับตัวเลขเศรษฐกิจ

นักท่องเที่ยวต่างชาติ

ธปท. จ่อปรับตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่เดือน ก.ย. นี้ เผยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังทรุด ทั้งปีเหลือ 6.7 ล้านคน จากเป้า 8 ล้านคน หาย 1.3 ล้านคน กระทบจีดีพี 0.5%

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จ่อปรับตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่เดือนก.ย.นี้ เผยนักท่องเที่ยวยังทรุดทั้งปีเหลือ 6.7 ล้านคน จากเป้า 8 ล้านคน หาย 1.3 ล้านคน กระทบจีดีพี 0.5% ปี 64 มองที่ 16 ล้านคน แนะรัฐดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศให้ได้-พร้อมเฝ้าระวังโควิดระบาดระลอก 2 ส่วนเศรษฐกิจเดือนก.ค.ปรับดีขึ้น จับตาการลงทุนภาคเอกชน-ตลาดแรงงานยังเปราะบาง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยว่า ธปท. จะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว ซึ่งในเดือนกรกฎาคมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง เห็นการหดตัวน้อยกว่าช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ตามการใช้จ่ายภาครัฐและการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทำได้มากขึ้น ส่งผลให้เครื่องชี้วัดการบริโภคเอกชน การส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมน้อยลง

อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ยังมีความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ หากดูเฉพาะเศรษฐกิจเดือนรายเดือนจะพบว่าปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม แต่หากมองไปในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง

โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวจากเดิมที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 8 ล้านคน ปัจจุบันตัวเลขที่ดีที่สุดทำได้เพียง 6.7 ล้านคน ซึ่งหายไปประมาณ 1.3 ล้านคน กระทบจีดีพีค่อนข้างเยอะราว 0.5% จากประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจปี 63 อยู่ที่ -8.1% โดยสัดส่วนรายได้ภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องคิดเป็น 20% ต่อจีดีพี

นายดอน นาครทรรพ
นายดอน นาครทรรพ

ในปี 2564 ธปท. ประมาณการตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 16 ล้านคน เมื่อเทียบกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดจะอยู่ที่ 12 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าธปท.ถึง 4 ล้านคน ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่าปีนี้ และหากไทยยังไม่สามารถนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาได้ก็มีความเสี่ยงที่ต่างชาติฟื้นตัว แต่ไทยไม่ฟื้น อย่างไรก็ดี การนำนักท่องเที่ยวกลับมาอาจจะต้องอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 จนเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง ประกอบกับไทยต้องเรียนรู้และยอมรับได้หากมีการติดเชื้อในระดับ 20-30 รายต่อวัน ไม่ได้มีการติดเชื้อ 0 รายเท่านั้น

“การประเมินตัวเลขเศรษฐกิจรอบใหม่ ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ปรับลดลงแน่ๆ แต่ตัวเลขสัญญาณเครื่องชี้วัดที่ดีในไตรมาสที่ 2 เราก็ต้องใส่ไปลงไปด้วย และปัจจัยโอกาสการระบาดของโควิดรอบ 2 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ผ่านมาธปท.ไม่ได้มองประเด็นนี้ไว้มากนัก แต่จะเห็นสถานการณ์ระบาดของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีความเสี่ยงจะระบาดรอบสองได้เช่นกัน ซึ่งหากเกิดขึ้นก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นไปตามสมติฐานที่สำนักพยากรณ์แห่งหนึ่งมองว่าจีดีพีหดตัว 10% โดยจีดีพีครึ่งแรกจะต้องหดตัว 7% และครึ่งหลังจะหดตัว 13% ซึ่งจะต้องเกิดระบาดรอบ 2 และล็อกดาวน์อีกครั้ง”

ตัวเลขเศรษฐกิจ ก.ค.

นายดอน กล่าวว่า สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม 2563 ปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้วัดที่เป็นพระเอกยังเป็นการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวดี ทั้งการใช้จ่ายรัฐบาลกลางและรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 50% และ 17.2% ตามลำดับ

การบริโภคเอกชนหดตัวน้อยลงจาก -4.5% เดือนก่อนมาอยู่ที่ -01.% จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และปัจจัยชั่วคราวที่มีวันหยุด ทำให้ประชาชนออกมาท่องเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น แม้ว่าจะกระจุกตัวในรอบกทม. และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงรายได้ภาคเกษตรกลับมาขยายตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยาง โดยรายได้ภาคเกษตรขยายตัวอยู่ที่ 3.4% จากเดือนก่อนหน้า -2.2% และคาดว่าทั้งปีรายได้จะทรงตัวเป็นบวกเล็กน้อย

ขณะที่การส่งออกหดตัวน้อยลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องซักผ้า เป็นต้น และมีปัจจัยการส่งออกทองคำที่มีการส่งออกมาขายค่อนข้างเยอะจากราคาที่ปรับสูงขึ้น ทำให้การส่งออกรวมหดตัว -11.9% จากเดือนก่อนหน้า -24.6%

อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดภาคการลงทุนเอกชนมีความเปราะบาง โดยหดตัว -12.8% จากเดือนก่อนหน้า -10.2% ซึ่งติดลบเพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่เยอะ โดยเฉพาะเครื่องจักรและอุปกรณ์ และเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการลงทุนรวมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

ส่วนตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นบ้างตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ในภาพรวมยังเปราะบาง โดยสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงาน และสัดส่วนผู้ถูกเลิกจ้างต่อผู้ประกันตนคิดเป็น 27% ของผู้รับสิทธิ์ว่างงานทั้งหมด ขณะที่ดัชนีชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 3 เดือนของปี ซึ่งตัวเลขน่าสนใจ ไม่ใช่คนว่างงาน แต่เป็นคนที่ยังทำงานอยู่แต่รายได้ลดลงซึ่งมีในระบบเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ซึ่งคาดว่าภาครัฐจะมีนโยบายมองกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายที่ต้องดูแล