ธปท.คาดลูกหนี้เข้ามาตรการมัดหนี้รายย่อย 2 หมื่นล้าน

Photo by DAMIEN MEYER / AFP

แบงก์ชาติ เดินหน้าอุ้มลูกหนี้รายย่อยมัดหนี้บ้าน-สินเชื่อไม่มีหลักประกัน คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย ที่ 5.75-8.80% เผยมีสินเชื่อเข้าข่ายเข้าโครงการวงเงิน 1-2 หมื่นล้านบาท ลั่น ธนาคารคัดกรองลูกหนี้ได้ เปิดทางให้รวมหนี้เกินมูลค่าหลักประกันได้-พร้อมศึกษามัดหนี้ข้ามธนาคาร

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ ธปท.ออกมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ หรือ debt consolidation ซึ่งจากการสำรวจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และผู้ประกอบการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (น็อนแบงก์) ที่มีวงเงินสินเชื่อที่อยู่อาศัยและมีสินเชื่อไม่มีหลักประกันรวมอยู่ด้วยมีอยู่ราว 23 แห่ง คิดเป็นวงเงินสินเชื่อ 1-2 หมื่นล้านบาท ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564

ธัญญนิตย์ นิยมการ
ธัญญนิตย์ นิยมการ

“เท่าที่เราประเมินแบงก์ที่มีสินเชื่อบ้านและมีบัตรเครดิตด้วยมีประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเข้าโครงการทุกราย เราทำเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อน ซึ่งแบงก์ก็คงไดัมีการสำรวจลูกค้าตัวเองแล้วที่จะเข้าโครงการ”

ทั้งนี้ การรวมหนี้ดังกล่าว ลูกค้าจะต้องมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยและไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และผ่อนชำระมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทั้งระบบผ่อนชำระมาแล้ว 40% ของวงเงินทั้งหมด ซึ่งภายหลังนำสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมารวมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยภายหลังรวมหนี้วงเงินสามารถเกินมูลค่าหลักประกันได้ เช่น บ้านหลังแรกวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันอยู่ที่ 100% และบ้านหลังที่ 2 อยู่ที่ 90% เป็นต้น เนื่องจากในระยะข้างหน้ามูลค่าราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้น และหลังผ่อนชำระวงเงินคงค้างจะลดลงต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะปรับลดลงอัตราดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อยชั้นดี (MRR) ปัจจุบันอยู่ที่ 5.75-8.80%

อย่างไรก็ดี ธนาคารสามารถคัดกรองลูกหนี้จะเข้าโครงการได้ เพื่อป้องกันการเกิดวัฒนธรรมจงใจผิดนัดชำระหนี้ ปัญหา Moral Hazard โดยธนาคารจะแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ สีเขียวที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ปกติ สีเหลือง ลูกหนี้เริ่มมีสัญญาณชำระไม่ไหว และกลุ่มสีแดง ชำระไม่ไหวแล้ว โดยลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการจะต้องได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงสงครามการค้า

“เฟสแรกเราทำภายในแบงก์เดียวกันก่อน ซึ่งจะทำเฟสต่อเรื่องข้ามธนาคารหรือข้ามค่ายอาจจะยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า แต่ลูกหนี้สามารถทำได้ผ่านวิธีการรีไฟแนนซ์สินเชื่อ หรือจะเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ซึ่งตอนนี้มีเข้ามาค่อนข้างเยอะจาก 3,000-4,000 ราย เพิ่มเป็น 1 หมื่นราย เช่นเดียวกับโครงการทางด่วนแก้หนี้มีประชาชนเข้ามาใช้บริการกว่า 4 หมื่นราย”