แบงก์รัฐปัดลดดอกเบี้ยเงินกู้ ตุนกระสุนรับมือNPLพุ่ง-ธพว.พักหนี้ต่อ

ดอกเบี้ย-เงินบาท

แบงก์รัฐประสานเสียงไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงนี้ แม้มาตรการลดเงินนำส่งกองทุน SFIF มีผลแล้ว “ออมสิน” แจงมีสินเชื่อฉุกเฉินดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ดูแลประชาชนอยู่แล้ว ครม.เพิ่งอนุมัติวงเงินใหม่ 2 หมื่นล้านบาท จ่อเปิดให้ยื่นกู้ ก.ย.นี้ ฟาก “ธอส.” ขอตุนกระสุนไว้รับมือ 8 มาตรการช่วยลูกหนี้เจอผลกระทบ “โควิด-19” ทยอยครบอายุ ส่วน “ธ.ก.ส.” รอ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายก่อนค่อยตัดสินใจ ด้าน ธพว.เตรียมคลอดมาตรการพักหนี้เงินต้นดูแลลูกค้าต่อเนื่อง หวังสกัดเอ็นพีแอลพุ่ง

แหล่งข่าวจากผู้บริหารระดับสูงของธนาคารออมสิน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าขณะนี้ การลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIF) ลงเหลือ 0.125% จากเดิม 0.25% จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ธนาคารยังจะไม่มีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงอีกในช่วงนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของออมสินในปัจจุบันยังสอดคล้องกับดอกเบี้ยในตลาด และปัจจุบันธนาคารก็มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำดูแลประชาชนอยู่แล้ว

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติให้ออมสินปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินเพิ่มเติมอีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะปล่อยกู้ รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท โดยผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระสามารถขอสินเชื่อได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน คิดดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน คาดจะเริ่มเปิดให้ขอสินเชื่อได้ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้

ทั้งนี้ เดิมออมสินมีสินเชื่อฉุกเฉินปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ วงเงินไม่เกิน 1 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.10% ต่อเดือน หรือดอกเบี้ย 10 บาทต่อเดือน และสินเชื่อฉุกเฉินที่ปล่อยกู้ให้ผู้มีรายได้ประจำไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อราย ดอกเบี้ย 0.35% หรือดอกเบี้ย 175 บาทต่อเดือน รวมถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ธนาคารออกมาให้กู้ 0.01% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ทั้งหมดนี้ธนาคารมีต้นทุนการดำเนินงานสูง และขาดทุน ทางกระทรวงการคลังจึงลดเงินนำส่งกองทุนดังกล่าวให้เพื่อช่วยพยุงฐานะของธนาคาร

“เหตุที่กระทรวงการคลังลดเงินนำส่งเข้ากองทุน SFIF เป็นเพราะว่าต้องการให้แบงก์รัฐนำเงินไปช่วยดูแลประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งโครงการต่าง ๆ ที่ออมสินออกมา เช่น สินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท, สินเชื่อฉุกเฉิน 5 หมื่นบาท รวมถึงซอฟต์โลน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้แบงก์ขาดทุน คลังจึงลดเงินนำส่งให้ เพื่อเข้ามาช่วยดูแลแบงก์ในส่วนนี้ ทั้งนี้ จะแตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินแล้วสามารถลดดอกเบี้ยดูแลลูกค้าได้ทันที” แหล่งข่าวกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ช่วงนี้ ธอส.คงไม่ลดดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ระดับต่ำมากแล้ว ขณะเดียวกันธนาคารจำเป็นต้องเตรียมพร้อมไว้รองรับผลกระทบจากการที่มาตรการดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กำลังทยอยหมดอายุมาตรการด้วย

“ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป โดย ธอส.ช่วยลูกค้าไป 8 มาตรการ ล่าสุด มีมาตรการที่ครบอายุแล้ว 1 มาตรการ คือมาตรการที่ 5 ที่ให้พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน ซึ่งมีลูกหนี้เข้าร่วมราว 1 แสนล้านบาท แล้วเราก็มีมาตรการออกมาช่วยต่อ โดยลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการต่อประมาณ 3 หมื่นล้านบาท แต่หลังสิ้นเดือน ส.ค.นี้ จึงจะรู้ว่าผลกระทบจะขนาดไหน เพราะจะได้รู้ว่าใครจ่ายได้ หรือจ่ายไม่ไหว” นายฉัตรชัยกล่าว

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน SFIF ลง 0.125% แต่ขณะนี้ ธ.ก.ส.ยังไม่ได้พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่จะต้องพิจารณาประกอบด้วย เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกแต่อย่างใด เป็นต้น

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธนาคารกังวลว่าเมื่อสิ้นสุดมาตรการ

พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามนโยบายของ ธปท.จะสิ้นสุดในเดือน ต.ค.นี้แล้ว ลูกค้าจะกลายเป็นเอ็นพีแอลมากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณามาตรการพักชำระหนี้เงินต้น เพื่อดูแลลูกค้าในระยะต่อไป ซึ่งลูกค้าที่เข้าเกณฑ์มีราว 6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ในจำนวนดังกล่าวมีผู้ที่ไม่มีกำลังชำระหนี้ คิดว่ามีความเสี่ยง จึงหยุดการชำระหนี้ราว 30% หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

“ลูกค้าเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้เริ่มต้นจาก 10% กระทั่งขณะนี้เพิ่มเป็น 30-40% แสดงให้เห็นว่าลูกค้าบางกลุ่มมีโอกาสจะหยุดชำระหนี้ โดยคนที่หยุดจ่ายไปแล้ว เรามีการออกไปสำรวจรายบุคคลเลย ว่าธุรกิจเป็นอย่างไร และจะกลับมาชำระได้หรือไม่ ถ้าผู้พักหนี้รายรับลดลง ก็ต้องปรับให้การจ่ายงวดลดลงด้วย เราจึงเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ให้ การปรับโครงสร้างหนี้ครั้งนี้จะพักชำระเงินต้นให้ลูกค้าจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย โดยจะให้ลูกค้าแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการ”

นางสาวนารถนารีกล่าวอีกว่า ช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารปล่อยสินเชื่อและเบิกจ่ายไปแล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือลูกค้าราว 1.3 หมื่นราย เป็นการเสริมสภาพคล่องระยะสั้น ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อที่วางไว้ โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท และรักษาระดับเอ็นพีแอลไว้ที่ระดับ 18-19% จากปัจจุบันอยู่ที่ 17% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการพักชำระหนี้