ตลาดบัตร “โคแบรนด์” คึกคัก “กสิกร”ผนึก”ช้อปปี้” – กรุงศรี เปิดตัวพันธมิตรใหม่

บัตรเครดิต
แฟ้มภาพ

สมรภูมิบัตรเครดิต “โคแบรนด์” กลับมาคึกคัก “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” จ่อคลอดหน้าบัตรใหม่กับพันธมิตรแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ภายใน ก.ย.นี้ ขณะที่ “กสิกรไทย” ชี้หมวด “อีคอมเมิร์ซ” มาแรง ล่าสุดจับมือ “ช้อปปี้” ปั๊มสเปนดิ้ง 4.6 พันล้านบาทใน 1 ปี ฟาก “เคทีซี” ไม่กลัวคู่แข่งชิงจับมือพันธมิตร “ช็อปออนไลน์” ชี้โอกาสทำตลาดบัตรใหม่ยังเปิดกว้าง

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ก.ย.นี้บริษัทจะร่วมกับพันธมิตรในการออกบัตรร่วม (cobrand) โดยจะเป็นการออกหน้าบัตรใหม่กับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่แห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบร่วมกันอยู่

ทั้งนี้ ปัจจุบันแนวโน้มการใช้จ่ายผ่านบัตร cobrand กลับมาเป็นปกติมากขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวไปในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เมืองช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตร (สเปนดิ้ง) มีอัตราการเติบโตดีขึ้นในทุกหน้าบัตร เช่น บัตรเครดิต เซ็นทรัล, โฮมโปร, เทสโก้ โลตัส เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีฐานอยู่ประมาณ 2.2 ล้านบัญชี โดยปีนี้คาดว่าจะมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว

“บัตร cobrand เป็นการขยายฐานลูกค้าได้ระดับหนึ่ง ซึ่งไตรมาส 3 เราก็มีแผนที่จะทำกับพันธมิตรเพิ่มเติม แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาปั๊มบัตรกันออกมาค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้น การออกบัตรใหม่ต้องพิจารณาถึงสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ด้วย” นางสาวณญาณีกล่าว

นางสาวพรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้ขยายความร่วมมือกับพันธมิตรออกบัตร cobrand อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 9 หน้าบัตร มีฐานบัตรรวมทั้งสิ้น 6.5 แสนใบ และมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยบัตรที่ขยายการเติบโตได้ดีเป็นบัตรในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ซึ่งยอดการใช้จ่ายค่อนข้างดีเพราะคนหันมาใส่ใจสุขภาพและความสวยงามกันมากขึ้น

ล่าสุดธนาคารขยายความร่วมมือกับช้อปปี้เป็นหน้าบัตรใหม่รายที่ 10 เนื่องจากมองว่าหมวดการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ (e-Commerce) มีอัตราการขยายตัวได้ดี และหลังจากเกิดโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดยิ่งเติบโต โดยธนาคารตั้งเป้าภายใน 1 ปีแรกอยู่ที่ 1.35 แสนใบ คิดเป็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท

“บัตร cobrand ถือเป็นกลยุทธ์ในการขยายฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะเห็นหลายค่ายออกบัตรเครดิตลักษณะนี้ออกมาค่อนข้างมาก แต่ในปีนี้อาจจะต้องชะลอแผนการเปิดตัวจากปัจจัยแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อทบทวนแผนใหม่ และลดค่าใช้จ่าย โดยบัตรที่เราร่วมกับช้อปปี้ล่าสุดเป็นแผนที่วางไว้ก่อนจะมีโควิด และเทรนด์มาทางออนไลน์หมด เราจึงต้องการขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้” นางสาวพรพิมลกล่าว

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีการจับมือกับแบรนด์หลากหลายประเภท เพื่อทำบัตร cobrand โดยบัตรที่ได้รับความนิยม เช่น บัตรร่วมสายการบิน, โรงพยาบาล, กีฬา และปั๊มน้ำมัน ขณะที่หมวดใหม่ที่กำลังเป็นกระแส คือ หมวดออนไลน์

อย่างไรก็ดี แม้ในตลาดจะมีการทำบัตร cobrand ร่วมกับแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ไปแล้ว แต่ไม่ถือเป็นการปิดโอกาสทำการตลาดของเคทีซี เนื่องจากพันธมิตรธุรกิจปัจจุบันค่อนข้างเปิดกว้างและเปิดรับพันธมิตรหลายราย

“ในปีนี้มีหลายแบรนด์เข้ามาหารือเพื่อจะทำบัตร cobrand อย่างไรก็ดี ความต้องการของเคทีซีและบริษัทพันธมิตรอาจไม่ตรงกัน ซึ่งบริษัทพันธมิตรอาจหันไปจับมือกับบัตรอื่น ๆ ในตลาด ซึ่งที่ผ่านมาเราทำบัตรร่วมกับพันธมิตรค่อนข้างมากมีกว่า 100 ราย ตอนนี้ก็พยายามเคลียร์พอร์ตที่ไม่แอ็กทีฟ หรือสิทธิประโยชน์ที่ไม่ได้ให้เหมือนเดิม” นางพิทยากล่าว

นางพิทยากล่าวว่า ปัจจุบันเคทีซีมีฐานลูกค้าประมาณ 2.5 ล้านใบ หรือคิดเป็นจำนวนลูกค้าประมาณ 2 ล้านราย โดยเป็นบัตร cobrand สัดส่วนประมาณ 10% ถือว่าไม่ใหญ่มาก โดยการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ตั้งแต่ 6,000-10,000 บาทต่อบัตร ซึ่งยอดการใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับประเภทบัตร เช่น บัตรโรงพยาบาล-การท่องเที่ยว จะมียอดใช้จ่ายค่อนข้างสูง เป็นต้น