เร่ง 2 มาตรการใหญ่อุ้มเศรษฐกิจ ปิดทาง “เซเว่น” รับชิมช้อปใช้

ร้านเซเว่นฯ

รัฐบาลปูพรมมาตรการอุ้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ประเดิม 2 มาตรการใหญ่วงเงินกว่า 7 หมื่นล้าน กระตุ้นกำลังซื้อต่อยอด ชิมช้อปใช้โครงการ “คนละครึ่ง” แจกเงิน 3 พัน ใช้จ่ายร้านค้าย่อยหาบเร่แผงลอย รัฐใส่เงินเข้าอีวอลเลต “เป๋าตัง” ใช้ได้วันละ 100 บาท คณะทำงานปิดทาง “เซเว่นฯ” ไม่เข้าเงื่อนไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายรอบใหม่ “ชิม ช้อป ใช้” เวอร์ชั่นใหม่ เป็นลักษณะรัฐร่วมจ่าย (copay) เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน โดยวงเงินคนละ 3,000 บาท โดยมุ่งเน้นให้นำเงินไปใช้จ่ายกับผู้ประกอบการรายย่อย อาทิ หาบเร่ แผงลอย วงเงินงบประมาณรวม 45,000 ล้านบาท โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดคุณสมบัติ

ผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งประชาชนที่ใช้สิทธิ์ และร้านค้าที่จะเข้าร่วม เพื่อนำเสนอที่ประชุม ศบศ. ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ชิม ช้อป ใช้ “คนละครึ่ง”

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ที่ประชุม ศบศ.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ชื่อ โครงการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.นี้ ด้วยการแจกเงิน 3,000 บาท จำกัดสิทธิเข้าร่วม 15 ล้านคน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ซึ่งคาดว่าประชาชนจะสามารถเริ่มจับจ่ายใช้สอยผ่านโครงการได้ภายใน 15 ต.ค.นี้

โดยประชาชนสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ทุกคนสามารถเข้าลงทะเบียนได้หมด รัฐบาลจะจ่ายเงินให้ 50% ของเงินที่ใช้ซื้อสินค้า ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นการทยอยจ่ายให้ผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังทุกวัน ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ได้แจกเงินรวดเดียว 3,000 บาท ผู้เข้าร่วมโครงการจะนำเงินไปซื้อได้เฉพาะของกิน ของใช้ประจำวัน ตามรูปแบบของมาตรการที่ต้องการกระตุ้นให้ใช้จ่ายเงินทุกวัน ไม่ได้ใช้อย่างกระจุกตัวในสัปดาห์แรกแล้วก็หมดไป

รัฐใส่เงินให้วันละ 100 บาท

“ตอนนี้กำลังดูวงเงินที่จะให้ใช้จ่ายในแต่ละวันไม่เกิน 100-250 บาทต่อวัน เพราะอยากให้เงินกระจายต่อเนื่องในทุกช่วงเวลา ซึ่งในหลักการ โครงการมีระยะเวลา 2 เดือนครึ่ง หรือราว 75 วัน ถ้าให้วันละ 100 บาท ก็จะเกินวงเงินที่กำหนดคนละ 3,000 บาท ฉะนั้นคลังต้องไปบริหารจัดการว่าจะให้เงินวันละเท่าไหร่ อาจจะให้วงเงินเล็ก ๆ

เพื่อให้กินก๋วยเตี๋ยวได้บ้าง และต้องใช้เงินตัวเอง 50% เพราะรัฐจ่าย 50% และถ้าแต่ละวันนั้นใช้เงินไม่หมดตามที่รัฐกำหนด เงินจะโดนตัด จะไปสะสมยอดเงินในวันใหม่ไม่ได้”

ส่วนหลักการใช้ เป็นรูปแบบเดียวกับการใช้จ่ายคูปองค่าอาหารของมาตรการ”เราเที่ยวด้วยกัน” คือผู้ใช้สิทธิ์จะต้องเติมเงินเข้าไปในวอลเลตของแอป “เป๋าตัง” เพื่อใช้ในการซื้อของ

เช่น ไปซื้อก๋วยเตี๋ยว 100 บาท ร้านค้าก็จะเปิดแอป “ถุงเงิน” ให้ผู้ซื้อชำระเงินเมื่อผู้ซื้อสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเงิน ระบบจะตัดเงินในวอลเลตของผู้ใช้ 50 บาท เพราะอีก 50 บาท รัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ นายลวรณกล่าวว่า สำหรับเงื่อนไขร้านค้าเข้าร่วมโครงการ จะต้องเป็นร้านค้าขนาดเล็กในตลาด เช่น ร้านขายหมูปิ้ง ร้านก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น โดยธนาคารกรุงไทยจะลงพื้นที่ไปดึงร้านค้ารายย่อยให้เข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้น

ขณะที่ร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการชิม ช้อป ใช้ และเราเที่ยวด้วยกัน รวมกว่า 5-6 หมื่นร้านค้า จะได้เข้าร่วมโครงการอัตโนมัติ แต่กรณีเป็นร้านค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเคยอยู่ในโครงการ ชิม ช้อป ใช้ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ฯลฯ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่าจะให้ร้านค้าดังกล่าวเข้าร่วมได้หรือไม่ เพราะเป้าหมายของโครงการจะเน้นไปที่ร้านค้ารายเล็ก ๆ

เซเว่นฯไม่เข้าเงื่อนไข

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน หรือ ศบศ.ชุดเล็กระบุว่า จากที่ศึกษามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มฐานราก ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากที่สุด โดยเสนอมาตรการที่ต่อยอดจาก “ชิม ช้อป ใช้” แต่เป็นลักษณะที่รัฐบาลร่วมจ่าย “คนละครึ่ง”

นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเฉพาะร้านค้ารายย่อยทั่วไป และหาบเร่ แผงลอย ในตลาดนัดตลาดสดต่าง ๆ เพราะเป้าหมายต้องการให้เม็ดเงินลงไประดับผู้ค้ารายย่อย จึงมีการออกแบบให้เป็นการจ่ายเงินเข้าอีวอลเลตวงเงินเล็ก ๆ ทุกวัน

ดังนั้นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่จึงไม่เข้าเงื่อนไข รวมถึงร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่นก็ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วม เพราะถือเป็นร้านค้าที่อยู่ภายใต้เครือข่ายกิจการขนาดใหญ่

ทุ่ม 2.3 หมื่นล้าน ช่วยจ่ายเงินเดือน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบศ.ได้มีมติเรื่องมาตรการ “รัฐช่วยจ่าย” เงินเดือนให้กับบริษัทเอกชนที่มีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ ปีการศึกษา 2562-2563 จำนวน 2.6 แสนคน เป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-30 กันยายน 2564 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้กับนายจ้างสำหรับระดับปริญญาตรี ไม่เกิน 7,500 บาท, ระดับ ปวส. ไม่เกิน 5,750 บาท และระดับ ปวช. ไม่เกิน 4,700 บาท เป้าหมายเพื่อกระตุ้นการจ้างงานใหม่ของภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ

ทั้งนี้ นายจ้างต้องอยู่ในระบบประกันสังคม มีการยืนยันตัวตนผ่านกระทรวงแรงงาน และมีเงื่อนไขเลิกจ้างลูกจ้างเดิมได้ไม่เกิน 15% ภายในเวลา 1 ปี โครงการนี้จะใช้วงเงินงบประมาณ 23,476 ล้านบาท ซึ่งจะมีการจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการรัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนธุรกิจเอกชนเพื่อกระตุ้นการจ้างงานใหม่นี้ จะเปิดกว้างให้ภาคธุรกิจเอกชนต่าง ๆ ที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ และวิธีการ รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนตรงให้กับกลุ่มที่ได้รับการจ้างงานใหม่ โดยไม่ได้ผ่านนายจ้าง อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงมาตรการ “จ้างงานใหม่” ของกลุ่มบัณฑิตจบใหม่เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลก็กำลังศึกษามาตรการที่จะดูแลแรงงานในกลุ่มอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ที่ขณะนี้อยู่ในภาวะตกงาน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ จัดทำโครงการภายใต้เงินกู้ 4 แสนล้าน แต่ยังเป็นการจ้างงานจำนวนไม่มาก ซึ่งก็จะต้องมีการศึกษาหามาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มต่าง ๆ