แห่ยกเลิก “กองทุนเลี้ยงชีพ” ธุรกิจฝืดหนักลดค่าใช้จ่าย

เอกชนรายได้หด-เงินขาดมือ แห่ “หยุดสมทบ-ยกเลิก” กองทุนหลายร้อยบริษัท “ทิสโก้-กสิกรฯ” ประสานเสียงนายจ้างใช้สิทธิ์หลังคลังผ่อนมาตรการให้หยุดส่งเงินสมทบชั่วคราวถึงสิ้นปี “โรงแรม-สายการบิน-ร้านอาหาร” 3 ธุรกิจหลักขอยกเลิกสูงสุด เปิดข้อมูลช่วง 3 เดือนมีลูกจ้างออกจากกองทุน 5.85 หมื่นคน 200 บริษัทหยุดจ่ายกองทุน

นางแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล ผู้อำนวยการสายการตลาด ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของหลายบริษัทได้รับผลกระทบ ซึ่งยังส่งผลต่อเนื่องถึงความสามารถในการนำจ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้าง

โดยหลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศให้ “ลูกจ้าง” รวมทั้ง “นายจ้าง” สามารถหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ธ.ค. 2563 ในส่วนของบลจ.ทิสโก้ พบว่ามีบริษัทที่อยู่ภายใต้การดูแล ขอหยุดนำส่งเงินสมทบชั่วคราวประมาณ 210 บริษัท หรือคิดเป็น 4.5% ของพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด 4,602 บริษัท

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีกบางส่วนที่ขอลดการจ่ายเงินสมทบให้เหลืออัตราขั้นต่ำประมาณ 110 บริษัท หรือคิดเป็น 2.5%รวมทั้งมีบริษัทที่ขอ “ยกเลิก” กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 30 บริษัท หรือราว 0.65% ของพอร์ต เนื่องจากนายจ้างแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19

ทิสโก้พอร์ตใหญ่ 4,600 บริษัท

นางแขขวัญกล่าวว่า อย่างไรก็ดี บริษัทที่ขอลดหรือหยุดส่งเงินสมทบ รวมถึงบริษัทที่ขอยกเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก จึงส่งผลให้ปริมาณเงินที่หายไปไม่กระทบต่อภาพรวมของพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท

ขณะเดียวกันยังมีบริษัทขอนำส่งเงินเข้ากองทุนเพิ่มทั้งส่วนของลูกจ้างและนายจ้างประมาณ 180 บริษัท รวมถึงมีบริษัทที่ขอตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มอีกประมาณ 170 บริษัท อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปีนี้ คาดว่าสิ้นปี 2563 จะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ขอจดทะเบียนใหม่รวมประมาณ 200 บริษัท จากปี 2562 ที่บริษัทขอจดทะเบียนกองทุนใหม่ประมาณ 300 บริษัท

“ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชน ขณะที่ บลจ.ที่มีส่วนแบ่งรองลงมาอาทิ บลจ.กสิกรไทย บลจ.ไทยพาณิชย์ บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.กรุงไทย ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้ารัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ จึงได้รับผลกระทบจากการขอเลิกกองทุนน้อยกว่าของทิสโก้” นางแขขวัญกล่าว

ทั้งนี้ บลจ.ทิสโก้มีส่วนแบ่งตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสูงสุด โดยมีบริษัทภายใต้การบริหารจัดการรวมประมาณ 4,600 บริษัท และมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 1.95 แสนล้านบาท

แนะลูกจ้างออมเงินต่อเนื่อง

นางแขขวัญกล่าวอีกว่า แม้ว่าปีนี้ผู้ลงทุนหลายรายจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจและไวรัสโควิด-19 แต่หากผู้ลงทุนไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินแนะนำให้นำส่งเงินเพื่อเป็นเงินออมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่อง ไม่ควรถอนเงินออกจากกองทุน เนื่องจากเงินก้อนดังกล่าวจะเป็นเงินที่ผู้ลงทุนต้องใช้เมื่อออกจากงาน หรือเมื่อเกษียณอายุ

“แม้นายจ้างจะหยุดนำส่งเงินสมทบชั่วคราวตามที่กระทรวงการคลังประกาศ ซึ่งทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง แต่ลูกจ้างยังสามารถออมเงินได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่บริษัทขอหยุดส่งทั้งส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อออมเงินก็ได้” นางแขขวัญกล่าว

ชงคลังต่อเวลา “หยุดสมทบ”

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย จำกัด ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน (AIMC) กล่าวว่า การประกาศมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงการคลังถือเป็นข้อดีและเป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งหากไม่มีมาตรการผ่อนปรนดังกล่าวอาจส่งผลให้บริษัทที่มีความเปราะบางจำเป็นต้องปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการออมเงินเพื่อรองรับการเกษียณอายุของพนักงานบริษัทโดยสมาคมเตรียมประเมินสถานการณ์ช่วงปลายปี 2563 อีกครั้ง หากสถานการณ์ธุรกิจต่าง ๆ ยังไม่ดีขึ้น สมาคมมีแผนจะเสนอกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอต่ออายุมาตรการเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

“มาตรการลักษณะนี้ในต่างประเทศก็มีการนำมาใช้เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ ถ้าไม่สามารถนำส่งเงินต่อได้ก็มีมาตรการรองรับ แต่ต้องยอมรับว่าการผ่อนปรนดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเติบโตของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ปกติทุกปีจะเติบโต 2 หลัก แต่ปีนี้น่าจะโตได้แค่หลักเดียว” นายวศินกล่าว

รร.-แอร์ไลน์-ร้านอาหารเจ็บหนัก

ขณะที่นายเกษตร ชัยวันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 ในส่วนของกสิกรฯมีบริษัทขอหยุดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 5% จากฐานลูกค้าทั้งหมด 4,000 บริษัท หรือราว 200 บริษัท ถือว่าค่อนข้างน้อยหากเทียบกับพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมทั้งมีบางส่วนที่ขอยกเลิกกองทุนจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ อาทิ โรงแรม สายการบิน และร้านอาหาร ฯลฯ

สำหรับในกลุ่มลูกค้าที่ประสบปัญหาทางการเงิน บลจ.กสิกรไทยจะแนะนำให้นายจ้างปรับลดสัดส่วนเงินนำส่งของตนเองก่อน เช่น เดิมเคยจ่ายเงินสมทบ 10% ให้ลดลงมาเหลือ 5% เป็นต้น หรือปรับลดลงเหลือขั้นต่ำที่ 2% อย่างไรก็ตาม บริษัทส่วนใหญ่ระบุว่าการปรับลดเงินสมทบไม่สามารถช่วยเหลือด้านต้นทุนได้ จึงของดนำส่งชั่วคราวไปจนถึงสิ้นปี 2563 ตามประกาศของกระทรวงการคลัง

“แม้ว่าส่วนใหญ่ตอนนี้ลูกค้าเข้ามาขอลดหรือหยุดส่งเงินเข้ากองทุน แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจปลายปีไม่ดีขึ้น ก็อาจเห็นการเข้ามาขอปิดกองทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็อยากให้กระทรวงการคลังพิจารณาขยายเวลามาตรการออกไปอีก 6 เดือน หรือไปจนถึงกลางปีหน้า เพราะเชื่อว่าจะเป็นผลดีกับผู้ลงทุนมากกว่าปล่อยให้กองทุนถูกปิดลง” นายเกษตรกล่าวและว่าคำแนะนำสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นลูกจ้างในตอนนี้ เนื่องจากเงินที่เก็บสะสมไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเป็นเงินก้อนที่ผู้ลงทุนนำไปใช้ตอนเกษียณอายุ ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นใช้เงิน และยังมีกำลังส่งเงินเข้ากองทุน แนะนำให้ส่งเงินต่อเนื่องเพื่อป้องกันเกิดวิกฤตการเงินตอนเกษียณ ซึ่งปัจจุบันผู้ลงทุนที่เกษียณอายุสามารถเลือกรับเงินเป็นก้อนหรือเป็นงวดต่อเดือนก็ได้

ลูกจ้างออกจากระบบ 5.85 หมื่นคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการกองทุนระบุว่า ภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 63 มีนายจ้างที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 20,986 บริษัท จำนวนพนักงาน 3,193,485 คน มูลค่าเงินกองทุน1.21 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ พบว่าในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 ที่กระทรวงการคลังผ่อนปรนให้สามารถงดหรือนำส่งเงินได้ชั่วคราวนั้น พบว่ามีจำนวนลูกจ้างที่ออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งสิ้น 58,582 คน

สำหรับภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.ทิสโก้ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 16.08% จำนวนบริษัทนายจ้าง 4,602 บริษัท จำนวนสมาชิก (พนักงาน) 6.77 แสนคน มูลค่าเงินกองทุน 1.95 แสนล้านบาท อันดับ 2 บลจ.กสิกรไทย ส่วนแบ่งตลาด 15.52% จำนวนบริษัทนายจ้าง 3,986 บริษัท จำนวนสมาชิก 5.63 แสนราย มูลค่าเงินกองทุน 1.88 แสนล้านบาท และ บลจ.ไทยพาณิชย์ ส่วนแบ่งตลาด 12.03% จำนวนบริษัทนายจ้าง 2,676 บริษัท จำนวนสมาชิก 4.09 แสนราย มูลค่าเงินกองทุน 1.46 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 63 ราชกิจจานุเบกษาประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่เกินงวดนำส่งเงินเดือน ธ.ค. 63 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างและนายจ้างซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19