ส่องเทรนด์ “ไอพีโอ” ตลาดทุนไทย “โควิด” หนุนหุ้นเทคโนโลยี “เหนือจอง”

ตลาดหุ้นไทย

สถานการณ์ระดมทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้ ช่วงครึ่งปีแรกเจอผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เข้าไปเต็ม ๆ แต่พอเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง การขายหุ้น IPO (การขายหุ้นเป็นครั้งแรกต่อประชาชนทั่วไป) ของบริษัทต่าง ๆ เพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลับมาคึกคักมากขึ้น แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สดใส ยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้หุ้นIPO บางบริษัทไม่สามารถระดมเงินได้ตามเป้า และประสบกับภาวะที่ราคาหุ้นปรับลดลง จากราคาจองซื้อ

หุ้น IPO เทรดแล้ว 8 บริษัท

โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า หุ้น IPO ที่เข้าระดมทุนตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (ณ 3 ก.ย. 2563) มีด้วยกันรวมทั้งสิ้นจำนวน 8 บริษัท แบ่งเป็นระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET จำนวน 4 บริษัท และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai จำนวน 4 บริษัทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ หุ้นที่ราคาปรับลดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อ IPO มากที่สุด คือ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ปรับลดลง 31.55% จากราคาจองซื้อ IPO ที่ 42.00 บาท มาอยู่ที่ 28.75 บาท (ราคาล่าสุด ณ วันที่ 3 ก.ย. 2563) ส่วนหุ้นที่ราคาปรับขึ้นสูงกว่าราคาจองซื้อมากที่สุด คือ บมจ.ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) ปรับขึ้น 226.09% จาก 1.38 บาท มาอยู่ที่ 4.50 บาท (ดูตาราง)

ตารางหุ้นไอพีโอ

หุ้นเทคฯ ราคาวิ่งฉิวเหนือจอง

“แมนพงศ์ เสนาณรงค์” รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท. เปิดเผยว่า การระดมทุนของหุ้น IPO ในปี 2563 นี้ ต้องยอมรับว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ mai ราคาหุ้นส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นจากราคาจองซื้อเนื่องจากได้อานิสงส์จากกระแสการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ (new normal)ที่มากับโควิด-19 ได้แก่ กระแสการทำงานที่บ้าน (work from home) และการปรับปรุงระบบภายในของแต่ละบริษัท เป็นต้นในทางตรงกันข้าม บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น ห้างสรรพสินค้า ที่เผชิญกับมาตรการล็อกดาวน์เมือง 3 เดือน ทำให้บริษัทขาดรายได้ ราคาหุ้นจึงได้รับผลกระทบปรับลดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อ

20 บจ. ลุ้นเข้าระดมทุนปลายปี

ส่วนแผนการเข้าระดมทุนในช่วงที่เหลือของปีนี้ “แมนพงศ์” บอกว่า แม้ว่าบางธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติในปีนี้ แต่พบว่าบริษัทที่เข้ามาขอคำปรึกษากับ ตลท. ยังไม่มีรายใดที่ขอชะลอแผนขายหุ้น IPO อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเริ่มเปิดประเทศประมาณ 1 เดือนเท่านั้น บริษัทที่อยู่ระหว่างกระบวนการ จึงรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

“ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับการอนุมัติแบบแสดงคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) จากสำนักงาน ก.ล.ต.แล้วประมาณ20 บริษัท ซึ่งเราก็คงไม่สามารถตอบแทนบริษัทเหล่านั้นได้ว่าจะเข้าระดมทุนภายในปีนี้หรือไม่ แต่หากบริษัทเหล่านี้เขาเปลี่ยนแผนก็ไม่ได้กระทบกับตลาดหลักทรัพย์ฯอย่างมีนัย เนื่องจากหุ้น IPO มีเข้ามาขอระดมทุนอย่างต่อเนื่อง” นายแมนพงศ์กล่าว

จ่อเปิดตลาดหุ้นแห่งที่ 3

ขณะที่การขับเคลื่อนของ ตลท.ในระยะถัดไป “แมนพงศ์” บอกว่า ทาง ตลท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการศึกษาช่องทาง เพื่อสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการสนับสนุนบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เทคโนโลยี หรือบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับบริการสมัยใหม่ ทั้งที่มีรายได้แล้วแต่กำไรยังไม่ถึงเกณฑ์ระดมทุนใน SET และ mai รวมถึงรายเล็ก ซึ่งต้องการเงินทุนมาหนุนการเติบโตในอนาคต

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้แล้ว แต่กำไรจะยังไม่ถึงเกณฑ์ มีแผนการตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 3 หรือตลาดหลักทรัพย์สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพขึ้นมา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ระดมทุนได้ในช่วงกลางปี 2564

ทั้งนี้ เกณฑ์การระดมทุน จะเปิดให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเปิดให้นักลงทุนรายใหญ่ (high net worth) เข้ามาระดมทุนได้ด้วยหรือไม่ ส่วนบริษัทขนาดเล็ก จะนำ LiVE Platform มาปัดฝุ่นใหม่ รวมถึงจะช่วยเหลือด้านการจัดทำบัญชีและระบบต่าง ๆ เพื่อให้มีความพร้อมที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่องทางต่าง ๆ ได้ ไม่เฉพาะในตลาดหลักทรัพย์ฯ เช่น เงินกู้ยืมจากธนาคาร การร่วมลงทุน (VC) เป็นต้น

“การสนับสนุนการระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะไปได้ต่อในอนาคตนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนช่วงที่จะเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาตลาดทุนไทย อย่างไรก็ดี เราต้องรักษาสมดุลให้ดีทั้งในแง่การสนับสนุนให้บริษัทเข้าถึงแหล่งเงินทุน และในแง่ความคุ้มครองนักลงทุน”


ทั้งนี้ หากสามารถพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีเครื่องมือระดมทุนที่หลากหลาย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเข้ามาระดมทุนของหุ้นที่เป็นเทรนด์ใหม่ ๆ ก็น่าจะช่วยปลุกเสน่ห์ให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจในสายตาชาวโลกได้มากขึ้น