สภาพัฒน์ เล็งกระตุ้นเศรษฐกิจล็อต 2 อีก 1 แสนล้าน

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒน์

สภาพัฒน์ เผยครม.อนุมัติเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว 4.3 หมื่นล้านบาท เตรียมชงอีก 4.7 หมื่นล้านบาท เสนอครม.สัปดาห์หน้า พร้อมจับมือ ศบศ. ออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ ล็อต 2 อีก 1 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ในส่วนของแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ว่า ในล็อตแรก คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ได้เสนอโครงการรวมวงเงินทั้งสิ้น 9.2 หมื่นล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยล่าสุด อนุมัติไปแล้ว 4.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานได้กว่า 4 แสนตำแหน่ง เหลือวงเงินอยู่อีก 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเสนอครม. ในสัปดาห์ถัดไป

พร้อมกันนี้ ในล็อต 2 คณะกรรมการฯ จะทำงานร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) เพื่อออกมาตรการกระตุ้น ซึ่งจะเน้นการท่องเที่ยว จ้างงาน และพัฒนาทักษะ มีวงเงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เช่น การจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ การกระตุ้นการใช้จ่ายลงสู่รายเล็ก หาบเร่ แผงลอย การดูแลเอสเอ็มอี แพ็กเกจไทยเที่ยวไทย ก็อาจจะมีการกระตุ้นเพิ่มเติม ซึ่งจะลงทยอยลงไปสู่ระบบเป็นระยะๆ โดยหากมีการพิจารณารายละเอียดชัดเจนแล้ว จะเสนอครม.ต่อไป

“ที่คณะกรรมการฯ ทยอยใช้เงินก้อน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้ใช้ครั้งเดียวหมด เป็นเพราะว่ายังต้องติดตามสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หากกลับมาระบาดรอบ 2 ก็จะมีวงเงินเหลือไว้ใช้จ่าย แต่หากโชคดีไม่มีการระบาดรอบ 2 เงินที่เหลืออยู่ก็จะนำไปใช้ในแพ็คเกจอื่นๆ ซึ่ง ศบศ. ก็กำลังคิดแพ็กเกจอยู่ หากมีการพิจารณารายละเอียดชัดเจนแล้ว จะเสนอครม.ต่อไป”

ขณะที่ภาพรวมเงินการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของแผนงานด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 100 ล้านบาท ด้านแผนงานเยียวยาผลกระทบจากไวรัสวิด-19 วงเงิน 5.5 แสนล้านบาท ใช้ไปแล้ว 2.9 แสนล้านบาท ยังเหลืออยู่ 2.1 แสนล้านบาท และในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ขอใช้ไปแล้ว 9.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 4.5 หมื่นล้านบาท

นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่า บ่ายวันนี้ (9 ก.ย.63) คณะกรรมการฯ จะมีการพิจารณาโครงการขอใช้เงินกู้ที่สำคัญๆ วงเงินรวม 2-3 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อจ้างงานนักศึกษาให้เข้าไปช่วยงานราว 3,000 ตำบล อัตราจ้าง 60,000 ราย, โครงการเกษตรแปลงใหญ่ จะช่วยปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตภาคการเกษตร, โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ของกองทุนหมู่บ้าน เป็นการทำผลิตภัณฑ์ของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ครม. อนุมัติไปแล้ว แบ่งเป็น 1) กระทรวงมหาดไทย 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” วงเงิน 4,788 ล้านบาท ประชาชนสมัครเข้าร่วมกว่า 73 จังหวัด ราว 25,179 ครัวเรือน เป็นพื้นที่ต้นแบบตำบลละ 1 ครัวเรือน รวม 337 ตำบล โดยจะสนับสนุนการจ้างงานตำบลละ 10 คน ค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ในระยะเวลา 1 ปี

โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มี วงเงิน 1,080 ล้านบาท จะมีการจ้างงานอาสาบริการท้องถิ่นละ 2 คน รวมกว่า 7,000 แห่ง มีการจ้างงานกว่า 15,000 คน เพื่อเข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สัญญาจ้าง 1 ปี ตั้งแต่ต.ค.63-ก.ย.64 ค่าจ้างเดือนละ 5 พันบาท และโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ วงเงิน 2,702 ล้านบาท จ้างงาน 14,000 คน สัญญาจ้าง 12 เดือน เริ่มตั้งแต่ต.ค.นี้ ค่าแรง 15,000 บาทต่อเดือน ให้เข้าไปจัดเก็บฐานข้อมูลในท้องถิ่น และบันทึกข้อมูลในระบบ เพื่อมาใช้ประโยชน์ต่อไป

2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ วงเงิน 9,806 ล้านบาท โดยนำวงเงินดังกล่าวไปสนับสนุนแหล่งน้ำ 5,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตของเกษตรกรณ์ อีก 3,000 ล้านบาท จะเข้าไปสนับสนุนการจ้างแรงงาน และที่เหลืออีก1,000 ล้านบาท จะใช้ดูแลปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 6.4 หมื่นราย พร้อมขับเคลื่อนโครงการได้ 1 ต.ค.นี้

3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานป้องกัน ปราบปรามและควบคุมไฟป่า ผ่านโครงการเฝ้าระวังสร้างแนวกันไฟ สร้างรายได้ชุมชน วงเงิน 2,246 ล้านบาท จะเกิดการจ้างงาน 9,137 คน และ 4) โครงการพัฒนาป่าไม้ สร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 863 ล้านบาท แบ่งเป็น การจ้างงาน 686 ล้านบาท และค่าดำเนินการอื่นๆ 177 ล้านบาท ซึ่งจะส่งเสริมการบริโภคครัวเรือนให้เกิดรายได้ในท้องถิ่น