“กกร.” ส่งสัญญาณเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว แต่ยังอ่อนแอ

ประชุมกกร.

“กกร.” ส่งสัญญาณเศรษฐกิจทยอยฟื้นแต่ยังอ่อนแอ ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน เผยมีผู้ว่างงานแล้วกว่า 7 แสนคน คงกรอบ GDP ปี 63 ไว้ -9% ส่งออก -12%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถานบัน (กกร.) ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2563 หดตัวน้อยลง ต่อเนื่องจากเดือน มิ.ย. ภาคครัวเรือนเริ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว การคลายล็อกกิจกรรมส่งเสริมการขาย

แต่โดยรวมเศรษฐกิจยังอ่อนแออยู่มาก ทั้งการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุน มีผู้ว่างงานแล้วกว่า 7 แสนคน มีผู้ทำงานประจำแต่ปัจจุบันไม่ได้ทำงานอีกกว่า 2.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านคนเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2562

ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสองในหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ เช่น กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ส่วนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีอุปสรรคอยู่มาก

ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์ฯ ยังคงอ่อนค่า เป็นความเสี่ยงให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ ไทยหากยังสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ และภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่อุปสงค์ในประเทศโดยรวมยังคงเปราะบางสูง จากความไม่แน่นอนรอบด้าน ที่อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภคและการลงทุน

ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 สำหรับทั้งปี 2563 กกร. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่ กกร. คงประมาณการการส่งออกในปี 2563 ว่าอาจจะหดตัวในกรอบ -12.0% ถึง -10.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1.0%

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นการปฏิรูปกฎหมายนั้น กกร. ให้ความสำคัญในการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดขั้นตอนการทำงานของภาครัฐ เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้มากขึ้น โดยนำผลการศึกษาของ ป.ย.ป. และ TDRI นำไปปฏิบัติในการปรับปรุงกฎหมายให้เกิดขึ้นได้จริง

โดยจะกำหนดเป้าหมายในการติดตามเรื่องดังกล่าวกับทางภาครัฐ โดยจะนำผลการศึกษาที่ทำงานร่วมกันผ่านหลายคณะทำงาน เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้การเข้าร่วม CPTPP เราไม่ทิ้งและอยากให้รัฐเร่งรัดการเจรจา เพรระเป็นผลประโยชน์ของประเทศ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. ช่วยเหลือ SME จากการปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ Soft loan 5 แสนล้านของ ธปท. กกร.จะได้มีการศึกษาร่วมกันในการให้ บสย. เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก 30% ให้มากขึ้น

ขณะที่ประเด็นการเบิกจ่ายเงินของโครงการภาครัฐ สำหรับผู้ประกอบการที่รับโครงการจากภาครัฐและได้มีการส่งมอบงานแล้ว กกร. เสนอให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของโครงการของภาครัฐภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานภาครัฐทุกประเภทสามารถโอนสิทธิ์การรับเงินให้กับธนาคารได้ด้วย