ธปท.เปิดข้อมูลอุ้มลูกหนี้ 7.2 ล้านล้าน “กกร.” ชงคลัง-ธปท.ขยับเพดานค้ำ 50%

แบงก์ชาติ ธปท. ค่าเงินบาท กนง.

ธปท.เปิดข้อมูลช่วยลูกค้าฝ่าโควิด-19 พักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว 7.2 ล้านล้านบาท หรือ 12.5 ล้านบัญชี ด้าน กกร.จ่อเสนอคลัง-ธปท.ขยายเพดาน บสย.ค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็น 50% จาก 30% หนุนแบงก์ปล่อยกู้เพิ่ม

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยความคืบหน้าของมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการเลื่อนพักชำระหนี้ การขยายเวลาชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จากการประเมินล่าสุดคาดว่า จะมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือในสัดส่วนสูงที่ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ และในระยะต่อไป ธปท. ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลลูกหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละราย

ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการและประสานกับสถาบันการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด นั้น

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธปท. เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุด ณ 31 กรกฎาคม 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.5 ล้านบัญชี โดยลักษณะการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ นั้น ครอบคลุมทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้ การลดภาระผ่อนชำระต่อเดือนด้วยการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามสัญญา การลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามสัญญาใหม่

จาตุรงค์ จันทรังษ์
จาตุรงค์ จันทรังษ์

ธปท. ได้ขอให้สถาบันการเงิน ประเมินสถานการณ์ของลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ คาดว่า จะมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือในสัดส่วนสูงที่ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับความช่วยเหลือ โดยลูกหนี้ในส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนปรนการชำระหนี้ต่อไปหลังจากมาตรการช่วยเหลือที่เคยได้รับสิ้นสุดลง เพื่อรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง และเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

ในระยะต่อไป ธปท. ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลและแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ตามความสามารถของแต่ละราย โดย ธปท. มีโครงการร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ในชื่อ “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” (โครงการดีอาร์บิส) เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายให้มีกลไกจัดการหนี้กับสถาบันการเงินทุกแห่งได้อย่างเบ็ดเสร็จ

นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้รายย่อย ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) โดยนำสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นที่อยู่ภายใต้ผู้ให้บริการทางการเงินเดียวกันมาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ประโยชน์จากหลักประกัน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยต่อไปได้ตามความสามารถของแต่ละราย

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ตอนนี้ กกร.ได้มีการศึกษาร่วมกันในการให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เพิ่มเติม โดยเพิ่ม Max Claim จาก 30% เพิ่มเป็น 50% เพื่อช่วยจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์กล้าปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งระดับ 50% ถือว่ายังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ให้ Max Claim เฉลี่ยสูงถึง 80%

“เรามองว่า 2 ปีข้างหน้าหากท่องเที่ยวกลับมา สินเชื่อเหล่านี้ก็จะไม่เสีย เพราะผู้ประกอบการกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ จะเห็นว่าบสย.ที่ค้ำประกันเป็นแสนๆ ล้านบาท แต่หนี้เสียมีเฉลี่ยแค่ 5-6% เพราะแบงก์ส่วนใหญ่ปล่อยกู้ก็ดูความสามารถต่างๆ ด้วย ซึ่งภายหลังการหารือจะเสนอต่อกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป”