ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะตลาดกังวลปัญหาจีน-สหรัฐ

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 9 กันยายน 2563

ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/9) ที่ระดับ 31.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 31.41/42 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอย่างทรงตัวในกรอบแคบ โดยนักลงทุนจับตาสถานการณ์การเมืองในประเทศ สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเทียบค่าเงินสกุลหลัก ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากที่วานนี้ (8/9) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐกล่าวกับสื่อมวลชนที่ทำเนียบขาวว่า เขาจะลดระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนลง พร้อมทั้งเปรยถึงมาตรการลงโทษบริษัทสัญชาติสหรัฐที่ไปสร้างฐานการผลิตในต่างประเทศ และมาตรการกีดกันบริษัทที่เข้าไปลงทุนในประเทศจีนไม่ให้ได้รับสัญญาทางธุรกิจกับรัฐบาลกลางสหรัฐ

โดยนายทรัมป์กล่าวว่า รัฐบาลจะผลักดันให้บริษัทสัญชาติสหรัฐ ผลิตชิ้นส่วนสำคัญที่ใช้ในการผลิตภายในประเทศเอง โดยรัฐบาลจะให้ผลประโยชน์ทางภาษีแก่สินค้าที่ผลิตในสหรัฐ (Made in America) และนายทรัมป์ยังเสริมว่านโยบายดังกล่าวจะนำไปสู่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ

นอกจากนั้น รัฐบาลจะเรียกเก็บภาษีกับบริษัทสัญชาติสหรัฐ ที่ออกไปสร้างฐานการผลิตในจีนและในประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.37-31.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/9) ที่ระดับ 1.1772/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 1.1811/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงแม้สหภาพยุโรปเปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในกลุ่มประเทศสมาชิก (GDP) ของไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 14.7 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และหดตัวร้อยละ 11.8 เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่หดตัวร้อยละ 15.0 และ 12.1 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าของค่าเงินยูโรนั้นมีทิศทางสอดคล้องกับของค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักร โดยค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 1.07 ภายในข้ามคืน จากระดับปิดตลาดเย็นวานนี้ (8/9) ที่ 1.1306/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์สเตอร์ลิง สู่ระดับเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/9) ที่ 1.2959/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ปอนด์สเตอร์ลิง หลังจากนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรยื่นคำขาดว่า สหราชอาณาจักรพร้อมที่จะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตลง (no-deal Brexit) ถ้าหากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าได้ภายในกำหนดการณ์เดิมคือวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1755-1.1787 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1760/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (9/9) ที่ระดับ 105.92/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (8/9) ที่ระดับ 106.30/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการค้าและการลงทุนของตลาดโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.76-106.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.00/03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตำแหน่งว่างงานเปิดใหม่จาก JOLTs ของสหรัฐเดือนกรกฎาคม (9/9), อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหภาพยุโรป (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) และดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ของสหรัฐเดือนสิงหาคม (10/9), จำนวนคนยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Innitial Jobless Claims) ของสหรัฐ (10/9), ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐาน (Core PPI) และดัชนีราคาผู้ผลิตทั่วไป (PPI) ของญี่ปุ่น เดือนสิงหาคม (10/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2/2563 (11/9),

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมวลรวม (Industrial Production) ของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (11/9), ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Production) ของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (11/9), ดุลการค้า (Trade Balance) ของสหราชอาณาจักร เดือนกรกฎาคม (11/9), อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของเยอรมนี เดือนสิงหาคม (11/9), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของสหรัฐเดือสิงหาคม (10/9), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักร ไตรมาสที่ 2/2563 (11/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.25/0.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 5.15/7.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ