น็อนแบงก์ชี้งานหิน “รวมหนี้รายย่อย” กระทบลงบัญชี-เปลี่ยนสัญญาใหม่

รมหนี้รายย่อย

น็อนแบงก์ชี้ “รวมหนี้” รายย่อยตามแนวทาง ธปท.ไม่ง่าย เร่งหาข้อสรุป”ลงบัญชี-เปลี่ยนสัญญาเงินกู้” คาดลูกหนี้เข้าร่วมโครงการไม่มาก “ซีไอเอ็มบี ไทย” ประเมินลูกหนี้สินเชื่อ “บุคคล-บ้าน” ภายใต้ 2 บริษัทลูก เข้าโครงการไม่เกิน 10% ของพอร์ต “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ชี้สัญญาณชำระหนี้เริ่มดีขึ้นหลังรัฐคลายล็อกดาวน์ ฟาก “กสิกรไทย” ชี้รายย่อยเริ่มกลับมาชำระปกติแล้ว 70%

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การดำเนินการตามมาตรการรวมหนี้รายย่อย (debt consolidation) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในกรณีลูกหนี้ของบริษัทในเครือนั้น ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างหารือกับบริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ผู้ให้บริการสินเชื่อรถยนต์ และบริษัท เวิลด์ลีส ผู้ให้บริการเช่าซื้อจักรยานยนต์ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้ โดยการรวมหนี้สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันและสินเชื่อที่มีหลักประกันระหว่างธนาคารและบริษัทในเครือ ยังต้องพิจารณาหลายเรื่อง อาทิ การลงบันทึกบัญชีกรณีโอนสินทรัพย์จากบริษัทในเครือมาไว้กับธนาคาร ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากงบดุลมีกำไร-ขาดทุน รวมถึงต้องเปลี่ยนสัญญาเงินกู้ใหม่ หลังจากรวมหนี้ด้วย เป็นต้น

“กระบวนการเหล่านี้จะต้องมีการพูดคุยและวางแผนร่วมกัน ตอนนี้เรากำลังคุยกันอยู่ เพราะอาจจะทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องดูเรื่องการลงบัญชีด้วย เพราะเป็นการโอนสินทรัพย์ที่เรารวมหนี้ ทั้งพอร์ต 2 ล้อ (รถจักรยานยนต์) และ 4 ล้อ (รถยนต์) แต่เท่าที่ดูลูกค้าสินเชื่อ 2 ล้อ ไม่น่าจะทับซ้อนสินเชื่อบ้านมาก แต่ 4 ล้อน่าจะมีอยู่บางส่วน ซึ่งเราต้องมาคุยในรายละเอียดกันให้ชัดเจน” นายเอกสิทธิ์กล่าว

นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า เบื้องต้นประเมินว่าลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลของซีไอเอ็มบี ไทย น่าจะสนใจเข้าโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามแนวทางรวมหนี้ไม่เกิน 10% ของพอร์ต ซึ่งปัจจุบันยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลของแบงก์อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท และยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท

“ลูกค้าที่เริ่มมีสัญญาณชำระไม่ไหวน่าจะเข้าโครงการ เพราะจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระในแต่ละงวดลงและลดภาระดอกเบี้ยลง ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี (MRR) ของธนาคารอยู่ที่ 7.35% ต่อปี”

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างหารือร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาและทีมกฎหมาย เพื่อพิจารณาว่าการรวมหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยโอนจากกรุงศรี คอมซูมเมอร์ไปเป็นลูกหนี้ธนาคารจะสามารถทำได้หรือไม่ หากทำได้จะต้องมีขั้นตอนกระบวนการทางบัญชีหรือกฎหมายอย่างไร

“ทีมงานกำลังหาข้อสรุปร่วมกันว่า จะดำเนินการอย่างไร และต้องประเมินตัวเลขลูกค้าที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารด้วย คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้พบว่าลูกค้าเริ่มมีสัญญาณกลับมาชำระได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงล็อกดาวน์ แต่ก็จะมีบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับมาได้ ซึ่งอาจจะอยู่ในกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่องซึ่งเราและทางการมีแผนช่วยเหลือลูกค้ายาวถึงสิ้นปีนี้ โดยคาดว่าลูกค้าคงเข้ามาตรการรวมหนี้ไม่มาก”

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ แบงก์จะดูสัญญาณการผ่อนชำระหนี้ของลูกค้าสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต หากพบว่าสัญญาณการผ่อนชำระเริ่มสะดุด แบงก์จะติดต่อเสนอโปรแกรมให้ลูกค้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้


“เรามองว่าลูกค้ารายย่อยอาจจะเข้าโครงการ debt consolidation ไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เข้าโครงการระยะที่ 1 และ 2 ไปแล้ว และจากที่สำรวจเบื้องต้น พบว่าลูกค้าเริ่มกลับมาชำระได้ปกติแล้วราว 70% หลังคลายล็อกดาวน์”