แห่เปิดบริษัทรับทวงหนี้ ผงะค้างชำระพุ่ง 1 ล้านล้าน

เงิน-ธนบัตร

ธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย-ติดตามทวงหนี้เบ่งบาน รับอานิสงส์พิษโควิดดัน “เอ็นพีแอล-หนี้ค้างชำระ” พุ่งเท่าตัว แห่เปิดบริษัทใหม่รับทวงหนี้เพิ่มในรอบ 3 ปี รวม 55 บริษัท “เจเอ็มที” เผยธุรกรรมไหลเพิ่มตลอดปีตามยอดหนี้ค้างชำระพุ่งเท่าตัวเกือบ 1 ล้านล้านบาท จัดทัพพนักงานทวงหนี้ 2,000 คนรองรับ คาดโกยงานแบงก์เข้าพอร์ต 3 หมื่นล้านบาท ฟาก “ชโย กรุ๊ป” รับงานแบงก์-กลุ่มสื่อสารกวาดคอมมิสชั่น 10-15% ขณะที่ BAM ลุยรับซื้อหนี้เสียแบงก์เข้าพอร์ตเพิ่ม ซีไอเอ็มบี ไทย จัดทีมแบงก์รับมือตามทวงหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบสถาบันการเงินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2/2563 พบว่ายอดคงค้างเอ็นพีแอลอยู่ที่ 5.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.09% ของสินเชื่อ เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3.04% นอกจากนี้ในส่วนของสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ คือ มีการค้างชำระแต่ยังไม่ถึง 3 เดือนก็ขยับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการพักหนี้ อย่างไรก็ตาม เป็นที่กังวลหลังสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ในช่วงปลายปี ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นมาก และจากสถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจรับซื้อหนี้เสียอย่างบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ก็มีการเติบโตมากขึ้น รวมถึงบริษัทที่เข้าสู่ธุรกิจติดตามทวงหนี้ก็เพิ่มมากขึ้น

ปลายปีงานทวงหนี้ทะลัก

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส หรือ JMT เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปริมาณธุรกรรมติดตามทวงถามหนี้จากสถาบันการเงินจะเริ่มเห็นสัญญาณเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/2563 หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จบลง และสถาบันการเงินไม่ได้มีการต่อมาตรการ อาจจะส่งธุรกรรมติดตามทวงถามหนี้ต่อมาให้บริษัทช่วยบริหารจัดการ

ทั้งนี้ หากดูตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน-ไม่เกิน 3 เดือน ในไตรมาส 1/2563 พบว่ามียอดสินเชื่อคงค้างสูงถึง 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากสิ้นปี 2562 ซึ่งหากรวมหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อีก 3.6 แสนล้านบาท เท่ากับยอดสินเชื่อที่ต้องเฝ้าระวังแตะเกือบ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวก็จะไหลออกมาให้บริษัทติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งคาดว่าปริมาณธุรกรรมก็จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงสิ้นปี

JMT ตั้งทีมทวงหนี้ 2 พันคน

สำหรับพอร์ตรับติดตามทวงหนี้ของ JMT ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันกว่า 90% และเป็นหนี้มีหลักประกัน 10% ซึ่งหนี้ที่มีหลักประกันส่วนใหญ่ธนาคารจะบริหารจัดการเอง และคาดว่าสิ้นปีพอร์ตของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท แต่ระหว่างปีจะเห็นปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นพีกสูงสุดได้ที่ระดับ 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพอร์ตเหล่านี้มีไหลเข้าและไหลออกตามปริมาณตัวเลขสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษและเอ็นพีแอลของธนาคาร

“ตอนนี้บริษัทมอนิเตอร์ตัวเลขหนี้ SM และเอ็นพีแอลไตรมาสที่ 2 ที่มีสัญญาณเพิ่มขึ้น จากไตรมาสแรกที่มีกว่า 9 แสนล้านบาท ยังไม่รวมตัวเลขที่ค้างในระบบอีก ดังนั้นแนวโน้มต่อไปงานติดตามทวงถามหนี้จะมีธุรกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปกติบริษัทจะมีรายได้จากค่าคอมมิสชั่นทวงถามหนี้ประมาณ 10% หรือราว 500 ล้านบาทต่อปี โดยปัจจุบันบริษัทมีพนักงานติดตาม 2,000 คน น่าจะเพียงพอรับธุรกรรมทวงถามที่จะไหลต่อเนื่องตลอดทั้งปี ซึ่งสัญญาณการทวงถามหนี้ตอนนี้ดีขึ้น คนเริ่มหันมาเจรจาและจ่ายหนี้มากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่มีการล็อกดาวน์ ช่วงนั้นจะชำระหนี้ค่อนข้างชะงัก”

แห่เปิดบริษัทรับทวงหนี้

ด้านนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย และการติดตามทวงหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (เอเอ็มซี) ขณะนี้บริษัทติดตามทวงถามหนี้ในระบบประมาณ 50-55 บริษัท โดยมี 1-2 บริษัทที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และอีก 10-18 ราย เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่อยู่นอก ตลท. และอีก 40 บริษัทขนาดเล็กที่ทำธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ โดยมีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 5 แสนบาท-1 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่จะลงทุนเฉลี่ย 4-5 ล้านบาท เพราะจะต้องมีการลงทุนเรื่องระบบการติดตาม เช่น ระบบอัดเทประหว่างคุยโทรศัพท์กับลูกค้า เป็นต้น

“ปีนี้มีบริษัทเอเอ็มซีที่เกิดขึ้นใหม่ครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากปี 2561-2562 ที่มีจำนวน 45 บริษัทคงที่ ซึ่งปีนี้มีบริษัทเปิดใหม่ค่อนข้างมาก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55 บริษัท สะท้อนว่ามีโอกาสและปริมาณธุรกรรมหนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้จากแบงก์จะมีการโอนหนี้ก้อนใหม่มาให้บริษัทดูแลเพิ่มขึ้น 20% หลังจากการโอนหนี้เก่าคืนให้แบงก์ ซึ่งปกติจะใช้เวลาในการติดตามเฉลี่ย 3-9 เดือน อย่างไรก็ดี มองว่ามาตรการปรับโครงสร้างต่าง ๆ ก็จะทำให้การเทขายหนี้จะไม่ไหลออกมารุนแรงมาก”

ฟาดค่าคอมฯทวงหนี้ 10-15%

นายสุขสันต์กล่าวว่า สำหรับพอร์ตของบริษัทชโย กรุ๊ป จะรับงานติดตามทวงถามหนี้จากธนาคาร 95% และที่เหลือจะรับจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ในเครือธนาคาร โดยธุรกรรมประมาณ 70% จะเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน และหนี้มีหลักประกัน 5% ส่วนที่เหลือเป็นหนี้ในกลุ่มสื่อสาร DTAC และ AIS โดยค่าคอมมิสชั่นของลูกค้าธนาคารจะอยู่ที่ 15% และกลุ่มสื่อสาร 7% เนื่องจากลูกค้าสื่อสารเป็นหนี้ที่ทวงถามง่ายกว่า ซึ่งคาดว่าปีนี้รายได้จากค่าคอมมิสชั่นจะอยู่ที่ 60 ล้านบาท จากพอร์ตธุรกรรมโดยรวมอยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านบาท

ถ้าเป็นลูกหนี้แบงก์ประเภทหนี้ไม่มีหลักประกัน ค่าคอมมิสชั่นจะอยู่ที่ 10-15% ของวงเงินที่ติดตามได้ แต่ถ้าหนี้ใหม่ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ค่าคอมมิสชั่นจะอยู่ที่ 7-10% และหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน เฉลี่ยอยู่ที่ 15% ส่วนหนี้ที่มีหลักประกัน สินเชื่อบ้าน-รถยนต์ส่วนใหญ่จะค้างชำระเกิน 90 วัน ค่าคอมมิสชั่นเฉลี่ย 1-3% ของวงเงินที่ติดตามได้

ส่วนหนี้กลุ่มสื่อสาร หากค้างชำระไม่เกิน 90 วัน ค่าคอมมิสชั่นจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ของวงเงินที่ติดตามหนี้ได้ และหากหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือ 6-12 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ 7-10% ของวงเงินที่ติดตามหนี้ได้

“ยอมรับว่าการแข่งขันมีมากขึ้น สวนทางกับวงเงินกู้ของลูกหนี้ที่ทยอยลดลงต่อเนื่อง จากเดิมวงเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 1 แสนบาทต่อราย ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 2 หมื่นบาท ทำให้บริษัทจะต้องพยายามรักษาต้นทุนบริหารจัดการให้สอดคล้องกับปริมาณหนี้ที่ได้รับมา โดยต้นทุนเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ 70% แบ่งเป็น ต้นทุนการดำเนินงานราว 40% เงินเดือนพนักงาน 25-30% และยังมีค่าภาษีธุรกิจอีก 10% ซึ่งบริษัทจะมีผลตอบแทนเหลือเฉลี่ย 20% รายได้จะคำนวณตามสัดส่วนการติดตามหนี้ได้ หรือค่าคอมมิสชั่นที่ธนาคารกำหนดไว้”

BAM ตั้งรับแบงก์เทขาย NPL

นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ หรือ BAM เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มการตัดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสถาบันการเงินทั้งระบบจะเห็นแรงเทขายเพิ่มขึ้นชัดเจนในปี 2564 โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเห็นแรงเทขายเอ็นพีแอลออกมากกว่า 1 แสนล้านบาท จากปีนี้อยู่ที่ราว 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินนโยบายช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของ ธปท. ซึ่งเป็นการชะลอการเกิดเอ็นพีแอล ทำให้การเทขายหนี้เสียยังไม่เพิ่มสูงขึ้นในปีนี้

ในส่วนของ BAM ปัจจุบันได้รับซื้อหนี้เสียมาบริหารแล้ว ประมาณ 8,000 ล้านบาท จากมูลหนี้ราว 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะรับซื้อหนี้มาบริหารได้ทั้งสิ้นราว 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นมูลหนี้ราว 3-4 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ โรงสีข้าว เป็นต้น ส่วนเป้าหมายการรับซื้อหนี้ในปี”64 กำลังอยู่ระหว่างทำแผน ซึ่งจะสอดคล้องกับหนี้เสียที่คาดการณ์จะไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น

“แบงก์เทขายหนี้ออกมาต่อเนื่อง แต่ปีนี้เราอาจจะยังไม่เห็นการเทขายที่หวือหวา เพราะแบงก์อยู่ในช่วงชะลอเอ็นพีแอล แต่ในปี”64 น่าจะเริ่มเห็นของจริงการเด้งขึ้นของเอ็นพีแอล ซึ่งตามตัวเลขของ ธปท.ไตรมาสที่ 2/63 เอ็นพีแอลอยู่ที่ระดับ 5.09 แสนล้านบาท ถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่งเราก็รวมเข้าทุกกองประมูลหนี้”

แบงก์จัดทัพตามทวงหนี้

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภายใต้เศรษฐกิจชะลอตัวและการระบาดของไวรัสโควิด-19 ธนาคารได้มีการบริหารจัดการคนภายในองค์กรไปทำหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ โดยหากเป็นหนี้ค้างชำระไม่เกิน 30 วัน จะให้พนักงานของธนาคารติดตามลูกค้า เนื่องจากติดตามง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก แต่หากเป็นหนี้ค้างชำระ 90 วัน คือเป็นหนี้เสียแล้ว ธนาคารจะใช้วิธีจ้างบริษัทติดตามทวงถามหนี้ภายนอก (outsource) เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญมากกว่าธนาคาร ประกอบกับต้นทุนบริหารจัดการในการติดตามหนี้จะคุ้มกว่าธนาคารดำเนินการเอง