ก้องเกียรติ โอภาสวงการ เพิ่มพอร์ตลงทุนจีน…ตามหา ‘หุ้นสุดยอด’

ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ นักลงทุนรุ่นใหญ่และหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาดทุน ที่ผ่านประสบการณ์วิกฤตมาหลายรอบ และในครั้งนี้เขายังคว้าโอกาสในวิกฤต เป็นหนึ่งในบุคคลที่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ขณะที่หลายคนเจ็บตัว ส่วนหนึ่งจากความสำเร็จการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษถึงกลยุทธ์การลงทุนในยุคหลังโควิด-19 สัญญาณเตือนเมื่อหุ้นเทคโนโลยีเข้าใกล้ฟองสบู่

เทรนด์ลงทุนยุคโควิด

ดร.ก้องเกียรติกล่าวยอมรับว่า ในท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น ตนสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ในระดับที่ดี ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้ลงทุนเฉพาะในประเทศไทย และการลงทุนก็ดูทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในต่างประเทศมีโอกาสเยอะมาก เพราะตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งโลก และตลาดใหญ่สุดคือ อเมริกา ซึ่งมีมูลค่าประมาณครึ่งหนึ่งของโลก เป็นตลาดหุ้นที่มีโอกาสสูงสุด และทั้งบริษัทและส่วนตัวก็ลงทุนในหุ้นอเมริกามาเกือบ 10 ปีแล้ว

“อย่างหุ้น Apple สมัยก่อนซื้อตอนราคา 70 เหรียญ ซึ่งตอนนั้นบริษัทมีเงินสดเยอะมาก ประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แต่หุ้น P/E อยู่ที่ 12-13 เท่า ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมหุ้นมันถึงถูกอย่างนี้ และซื้อเพิ่มตอน สตีฟ จ็อบส์ เข้าโรงพยาบาล เพราะเป็นมะเร็ง และอีกครั้งตอนเขาตาย คือมันก็สอนเราว่า เวลาซื้อของให้ซื้อตอนมีข่าวร้าย เพราะช่วงนั้นจะเป็นจุดที่ค่อนข้างต่ำ”

ที่ผ่านมาการลงทุนจะใช้คอนเซ็ปต์แบบดูมูลค่าหุ้น (valuation) ถ้าราคาถูกก็ต้องซื้อ แต่อาจจะทนนานหน่อย ทนเป็นปีอะไรแบบนี้ แต่ในที่สุดมันก็ขึ้นมา

แต่สำหรับการลงทุนในยุคโควิด-19 ดร.ก้องเกียรติกล่าวว่าvaluation doesn’t matter anymore มูลค่าหุ้นอาจจะไม่สำคัญอีกต่อไป แต่จะเน้นการลงทุนเป็นการลงทุนเป็นธีมมากขึ้น ยกตัวอย่าง บริษัท Zoom ที่ใช้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มี market cap ประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่กว่าหุ้น ปตท.ที่เป็น
พี่ใหญ่ของไทย 2.5 เท่า ที่มีบ่อน้ำมัน มีบ่อก๊าซเต็มไปหมด เพราะตอนนี้เป็นการเล่นหุ้นธีมเทคโนโลยีที่มีการเติบโตในอนาคต

หรือในช่วงโควิดระบาด มีการปิดเมือง แต่คนก็มาเล่นคอนเซ็ปต์หุ้นเปิดเมืองแล้ว ทั้ง ๆ ที่ในธุรกิจเปิดเมืองยังไม่มีรายได้เลย เช่น โรงแรม ร้านอาหาร สายการบิน กาสิโน เรือสำราญ สวนสนุก มีแต่ค่าใช้จ่าย แต่พอตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มชะลอ คนก็มองว่าธุรกิจเหล่านี้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

หุ้นเทคใกล้ ๆ ฟองสบู่

อย่างไรก็ตาม ดร.ก้องเกียรติยอมรับว่า หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐตอนนี้ใกล้ฟองสบู่ แต่ประเด็นก็คือ เมื่อธนาคารกลางสหรัฐปั๊มเงินออกมาเยอะขนาดนี้ เงินก็ต้องมีที่ลง ต้องมีที่ไป ฟองสบู่น่ะใช่ แต่เขาสามารถคอนโทรลอยู่มั้ย คือ อัตราเงินเฟ้อ (inflation) ไม่ได้พุ่งกระฉูด เพราะว่าธุรกิจซบเซาด้วย ดังนั้น การที่ inflation ไม่ขึ้นก็ไม่น่ากลัว แต่เป็นคอนเซ็ปต์ที่พวกเราทุกคนเกิดมาไม่เคยเห็น ที่ปั๊มเงินกันขนาดนี้ และหุ้น P/E สูงขนาดนี้

บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Uber ขาดทุนไปแล้วประมาณพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่หุ้นก็ยังขึ้นได้ หรือหุ้น Tesla ที่กลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 7 ของอเมริกา ขึ้นมาเยอะแยะ ทั้ง ๆ ที่บริษัทขายรถได้นิดเดียว เมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก market cap ใหญ่กว่าพวกนั้นหมด

ถือเป็นคอนเซ็ปต์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตของพวกเราทุกคน แต่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าตอนนี้นักลงทุนมองไปข้างหน้าไกล ๆ เลยว่า อนาคตของโลกยุคใหม่ภายใต้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปเยอะ และบริษัทเหล่านี้คือบริษัทที่จะได้ประโยชน์อย่างสูงสุดจากการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ตอนนี้หุ้นเทคโนโลยีเข้าไปทุกเซ็กเตอร์ ดังนั้น ยังไงก็ต้องเทค แต่จะเป็นเทคไปประยุกต์กับอะไร ประยุกต์กับ healthcare หรือไปประยุกต์กับรถยนต์ เช่น รถยนต์ไร้คนขับ หรือไปประยุกต์กับเรื่องการเก็บข้อมูล ก็กลายเป็น cloud

เมื่อตลาดหุ้นไทยไม่มีหุ้นเทค

ดร.ก้องเกียรติกล่าวถึงกรณีที่ตลาดหุ้นไทยไม่มีบริษัทเทคโนโลยีว่า ผมพูดปัญหานี้มานานแล้ว ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจน้อย ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่มีใครมาลงทุน มีแต่คนไทยเล่นกันเอง เพราะว่าคนไทยมีเงินเหลือไม่รู้จะไปไหน เล่นเมืองนอกก็เล่นกันนิดเดียว คือหลายคนยังมองว่าไปลงทุนต่างประเทศเสี่ยง รวมทั้งเรื่องค่าเงิน แต่ผมคิดว่าเหมือนกับเรามีสินทรัพย์หลายประเภทในประเทศไทย ก็กระจาย
ความเสี่ยง เช่น มีบ้าน มีที่ดิน หุ้น เงินฝากธนาคาร การลงทุนหุ้นอเมริกันก็เป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง เพื่อกระจายความเสี่ยง

“ถ้ามานั่งนับว่าซื้อหุ้นอเมริกา ดอลลาร์วันนี้ขึ้นลงหายไปกี่บาท แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะนี่เป็นการลงทุนระยะยาวสำหรับอนาคตมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังมีหุ้นไทยในพอร์ตที่ไว้รับปันผล เพราะบางบริษัทปันผลดี อย่างที่ถือว่าเป็นหุ้นอยู่ยงคงกระพันของไทย ที่ให้เงินปันผลสูง 5-6% ขึ้นไปก็มีเยอะ P/E ไม่ถึง 10 เท่า หรือ P/E 10 เท่า อย่างเช่น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, อินทัช, ปูนซิเมนต์ไทย เป็นต้น

โอกาสต่อไปถึงคิวหุ้นจีน

นอกจากนี้ ประธานกรรมการบริหารของเอเซีย พลัส กล่าวว่า หลังจากที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐมานานแล้ว และเริ่มเข้าใกล้ฟองสบู่ ในการลงทุนของบริษัทและส่วนตัวได้มีการเพิ่มน้ำหนัก “ตลาดหุ้นจีน” มากขึ้นเพราะมองว่าตลาดจีนซบเซามา 5-6 ปี ตลาดหุ้นจีนก็ต้องฟื้นขึ้น

คือพูดง่าย ๆ ในท้ายที่สุดก็ถึงคิว และต้องยอมรับว่ามีเหตุผลที่ฟื้น อย่างเรื่องการประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 เรื่องการที่รัฐบาลใช้จ่ายเงินทำให้จีดีพีกลายเป็นบวก ซึ่งมีอยู่น้อยประเทศในโลกที่ปีนี้จีดีพีเป็นบวก ความเป็นหนึ่งเดียวของรัฐบาลจีนที่ไม่มีฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้น เป็นรัฐบาลที่มองว่าเดินทิศไหนก็แน่วแน่ ไปทิศเดียว ไม่มีการเปลี่ยนนโยบายกลางคัน เหมือนประเทศที่มีการเลือกตั้งบ่อย ๆ แบบเรา อันนั้นก็เป็นข้อได้เปรียบของเขา

ขณะเดียวกัน ผลประกอบการของภาคธุรกิจจีนก็ดีขึ้นมาเรื่อย ๆ แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ เพราะตลาดในประเทศใหญ่กว่าสหรัฐหลายเท่า สหรัฐมีคน 200 กว่าล้านคน จีนมี 1,300 ล้านคน เพราะฉะนั้น แค่ทำให้คนในประเทศมีสตางค์ใช้ก็เรื่องใหญ่แล้ว ตลาดจีนใหญ่มาก เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินเดียต่อให้คนเยอะกว่า แต่กำลังซื้อไม่มี

“ที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีน ผมก็ลงทุนเยอะ จะสังเกตว่าถ้าหุ้นดี จะแพงมากอย่าง Tencent หรือ Alibaba ก็เป็นหุ้นที่ผมชอบมาก อย่างไรก็ตาม ถ้านักลงทุนสังเกตจะเห็นว่า หุ้นดี ๆ เวลาประกาศงบฯประจำไตรมาสออกมาทุกครั้ง ตัวเลขจะออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์ไว้หมด นี่คือหุ้นสุดยอด คือหุ้นที่ตียังไงก็ไม่ตาย และ Alibaba ประกาศผลประกอบการดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ทุกครั้ง”

เทรนด์ M&A หลังโควิด

ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตก็จะเป็นโอกาสของนักลงทุนรายใหญ่ที่แข็งแรงไล่ช็อปของถูก แต่สำหรับในยุคโควิด-19 ดร.ก้องเกียรติกล่าวว่า เนื่องจากครั้งนี้แบงก์ชาติมีนโยบายให้สถาบันการเงินต่าง ๆ พักหนี้ ยืดจ่ายดอกเบี้ย ทำให้วันนี้ในเมืองไทยยังไม่มีของถูก ถ้าได้ของถูกตอนนี้แสดงว่าซื้อจากฝรั่ง ซึ่งเขาทิ้งเมืองไทย ยกตัวอย่าง บ้านในภูเก็ต ที่ต่างชาติเป็นเจ้าของแล้วขายทิ้ง ถ้าเกิดโชคดีอาจจะได้ราคาถูกเป็นกลุ่มพวกนี้

“แต่สำหรับของคนไทยมาขายทิ้งราคาถูก ผมยังหาไม่ค่อยเจอ คือมีคนต้องการขาย อย่างหลายโรงแรมที่ว่าจะขาย แต่เท่าที่เข้าไปคุย คือตั้งราคาสูงแบบที่ไม่อยากขาย หรือไม่เดือดร้อนจริง อาจจะไม่มีสภาพคล่องก็ได้ แต่อาจจะยังมีธุรกิจอื่น หรืออาจจะยังยื้อกับแบงก์ได้ เพราะตอนนี้ก็มีมาตรการพักหนี้ แต่ถ้าปีหน้าไม่มีทางออกก็อาจเห็นภาพการขายถูกออกมาได้ ตอนนี้ยังเป็นการซื้อเวลาอยู่ เพราะแบงก์ยังผ่อนปรน”


รวมทั้งเทรนด์การควบรวมกิจการ (M&A) ก็มาในทิศทางเดียวกัน แต่ราคาที่เสนอยังไม่ค่อยน่าซื้อ คือของทุกอย่างตั้งราคาเหมือนก่อนโควิด-19 แถมบวกนิดหนึ่งด้วย อย่าง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ดินใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ราคาขึ้นไปเยอะมากเลย ถามว่าราคาวันนี้ลงมาหรือเปล่า ยังไม่เห็นรายการใหญ่ ๆ ที่บอกว่าลงเลย