ธุรกิจเช่าซื้อ จี้แบงก์ชาติเคลียร์ “รวมหนี้” ชี้ 2 ปมต้องสร้างความชัดเจน

“ธุรกิจเช่าซื้อ” จี้ ธปท. เคลียร์ 2 ปม “รวมหนี้รายย่อย” หวั่นสร้างความเข้าใจผิดลูกหนี้ต้องแบกภาระเพิ่ม ทั้งเรื่องดอกเบี้ยเช่าซื้อรถปัจจุบันถูกกว่าดอกเบี้ยกู้บ้าน รวมถึงค่าใช้จ่าย VAT กรณี “ปิดบัญชี” ฟาก “กรุงศรี ออโต้-ทีเอ็มบี” ชี้สัญญาณบวกลูกค้าสินเชื่อรถส่วนใหญ่กลับมาชำระปกติ

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีไอเอ็มบี ไทย ออโต้ ในฐานะประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีโครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ (debt consolidation) ด้วยวิธีการรวมหนี้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น ที่ผ่านมาสมาคมได้มีการเสนอขอให้ ธปท.ชี้แจงรายละเอียดข้อสงสัยให้เกิดความชัดเจนใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ปัจจุบันสินเชื่อเช่าซื้อ กรณีรถใหม่ป้ายแดง จะคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5-2.7% ต่อปี หรือคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (effective rate) จะเฉลี่ยไม่ถึง 5% ต่อปี ถือว่าต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5-8% ดังนั้น การรวมหนี้ไปไว้กับสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะทำให้ลูกหนี้เสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยเช่าซื้อและ

2.การปิดสัญญา ซึ่งตามหลักการปิดบัญชีลูกค้า จะมีภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะต้องจ่ายตลอดอายุสัญญาที่เหลือ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าประเด็นนี้จะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ การโอนย้ายหนี้จะต้องมีการทำระบบการคำนวณเพื่อให้สอดรับกับนโยบายอีกด้วย

วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์

“ตอนนี้ยังรอคำตอบจาก ธปท. เข้าใจว่าทาง ธปท.จะมีการหารือกันเพื่อหาข้อสรุป โดยหากได้คำตอบแล้ว เราจึงจะมีการเรียกสมาชิกประชุมร่วมกัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน เรากลัวว่าลูกค้าจะเข้าใจผิดว่าจะได้รับดอกเบี้ยถูกกว่า และแห่ไปสาขาธนาคารกันหมด” นายวิสิทธิ์กล่าว

นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรี ออโต้ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 1 จำนวนกว่า 6.5 แสนราย โดยให้พักชำระหนี้ได้สูงสุด 6 เดือนสำหรับรถยนต์ และสูงสุด 5 เดือนสำหรับรถจักรยานยนต์ หรือปรับโครงสร้างหนี้ ลดจำนวนเงินผ่อนชำระค่างวดลง ตลอดจนขยายการช่วยเหลือลูกค้าเพิ่มเติม ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 ของ ธปท. โดยลดค่างวดผ่อนชำระสูงสุด 30% ของค่างวดเดิม หรือให้พักชำระค่างวด (เงินต้นและดอกเบี้ย) สูงสุด 3 เดือน

“ตอนนี้มีลูกค้ากรุงศรีที่เข้าร่วมโครงการเฟสแรก แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการต่อในเฟส 2 แล้วราว 15% ในขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระค่างวดได้ตามปกติ อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีหลังหลายธุรกิจมีแนวโน้มจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในระหว่างนี้ธนาคารจะรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาประเมินมาตรการช่วยเหลือต่อไป”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า สัญญาณลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ของแบงก์ ที่เข้าโครงการช่วยเหลือตามแนวทางของ ธปท. ปัจจุบันพบว่าลูกหนี้กว่า 90% เริ่มกลับมาชำระหนี้ได้ปกติ รวมถึงในภาพรวมลูกหนี้ที่เข้าโครงการทั้งหมดราว 40% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งธนาคาร ก็กลับมาชำระหนี้ได้ดีกว่าที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ดี ธนาคารอยู่ระหว่างติดตามและประเมินตัวเลขอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในไตรมาส 4 นี้ ซึ่งจะเป็นไตรมาสที่มาตรการครบกำหนด ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ธนาคารจึงต้องประเมินศักยภาพลูกค้า ว่าจะกลับมาชำระหนี้ได้ปกติมากน้อยเพียงใดอีกครั้ง

“กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ ถือเป็นลอตแรกที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้จากการสำรวจ 90% กลับมาชำระได้แล้ว แต่ยังเป็นตัวเลขที่วางใจไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งเราอาจจะมองกรณีเลวร้ายมากไป เราจึงต้องรอไตรมาสสุดท้าย ที่จะเห็นลูกค้าครบทุกกลุ่ม” นายปิติกล่าว

นายปิติกล่าวด้วยว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่จะเป็นการเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในปีนี้ทีเอ็มบีจะควบคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับไม่เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.4% นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนบริหารจัดการเอ็นพีแอลโดยการตัดขายหนี้ออกไป เฉลี่ยไตรมาสละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นหนี้ทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธุรกิจรายย่อยและธุรกิจรายใหญ่