แบงก์กรุงเทพตื่นตั้งเอเย่นต์ ขยายช่องบริการสู้ “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย”

ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพรุกตั้งแบงกิ้งเอเย่นต์ “เซเว่นอีเลฟเว่น-เทสโก้ โลตัส” ดีเดย์เปิดตัว ต.ค.นี้ หลังปล่อยให้แบงก์อื่นออกตัวไปก่อน “กสิกรไทย” ขยายพันธมิตรต่อเนื่องจ่อทะลุ 20 ราย ปีนี้เล็งตั้ง “ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต-ตู้บุญเติม” หวังโกยธุรกรรมทั้งปี 20 ล้านรายการ ฟาก “ไทยพาณิชย์” มี 7 ราย ธุรกรรม 12.5 ล้านรายการ ลูกค้าใช้บริการยืนยันตัวตนเปิดบัญชีฝากออมทรัพย์แล้ว 1.3 แสนบัญชี

นางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ ธนาคารจะประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งตัวแทนธนาคาร หรือแบงกิ้งเอเย่นต์จำนวน 2 ราย ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เพื่อขยายช่องทางการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเซเว่นอีเลฟเว่นมีจำนวนสาขาประมาณ 12,500 จุด และเทสโก้ โลตัส อีกราว 2,700 จุด ทั้งนี้ เริ่มต้นจะเปิดบริการรับฝาก-ถอนเงินก่อน

“เดิมธนาคารมีแค่การรับชำระหนี้บัตรเครดิตผ่านเคาน์เตอร์เทสโก้ โลตัส และในเครือเทเลวิซ แต่ครั้งนี้จะขยายไปสู่ธุรกรรมฝากและถอนเงิน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของแบงก์ และเราจะขยายความร่วมมืออีกในอนาคต ตอนนี้อยู่ระหว่างพูดคุยเพิ่มเติมอีก 2-3 ราย”

ทั้งนี้ มองว่าในช่วงแรกธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์อาจจะมีปริมาณไม่สูงมากน่าจะใกล้เคียงธุรกรรมผ่านช่องทางโมบายแบงกิ้งที่ปัจจุบันอยู่ที่ 1-2 ล้านรายการต่อเดือน แต่คาดว่าหลังจากลูกค้ามีความคุ้นเคย ปริมาณธุรกรรมจะค่อย ๆ เติบโตขึ้น โดยธนาคารต้องการให้แบงกิ้งเอเย่นต์เข้ามาช่วยเสริมการเข้าถึงบริการของลูกค้าให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่มีสาขาตั้งอยู่ สาขาอยู่ห่างไกล

หรือไม่มีตู้เอทีเอ็ม เช่น ต่างจังหวัด เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันแบงกิ้งเอเย่นต์ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้น แต่มีทิศทางไปได้ดี และน่าจะตอบโจทย์คนต่างจังหวัดที่สาขามีไม่ทั่วถึง และธนาคารขนาดเล็กที่ไม่อยากขยายสาขา เพราะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

“หากลูกค้าหันไปทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และแบงกิ้งเอเย่นต์มากขึ้น จะมีผลต่อการเปิด-ปิดสาขาในอนาคต โดยธนาคารจะพิจารณาตามพฤติกรรมของลูกค้าเป็นหลัก เช่น ขนาดของสาขาอาจจะเล็กลง หรือจำนวนสาขาจะปรับตามปริมาณธุรกรรมที่ลดลง จากปัจจุบันมีสาขาทั้งสิ้น 1,130 สาขา เนื่องจากในอนาคตแบงกิ้งเอเย่นต์จะเพิ่มบทบาทการทำธุรกรรมได้มากกว่าฝาก-ถอนเงิน เช่น การพิสูจน์และยืนยันตัวตน หรือต่อยอดด้านสินเชื่อ เป็นต้น”

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แบงกิ้งเอเย่นต์ของกสิกรไทยที่จะดำเนินการเปิดเพิ่มเติมปีนี้ ได้แก่ ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และตู้บุญเติม ซึ่งที่ผ่านมาการทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ที่เปิดไปแล้ว 19 รายด้วยกัน อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี, ไปรษณีย์ไทย, ศรีสวัสดิ์, อินทนิล เป็นต้น และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งในแง่จุดให้บริการที่มีถึง 22,000 จุด เพิ่มจากปีก่อน 7,000 จุด และปริมาณธุรกรรมที่คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีธุรกรรมทั้งสิ้น 20 ล้านรายการ ส่วนใหญ่กว่า 90% จะเป็นธุรกรรมทำรายการฝากเงิน

ส่วนบริการอื่น ๆ เช่น ชำระบิล การถอนเงินสด พิสูจน์ตัวตนในการเปิดบัญชี (dip chip) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“แบงกิ้งเอเย่นต์ที่เรามีอยู่ปัจจุบัน ธุรกรรมไปได้ค่อนข้างดี มีลูกค้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่มีเวลาไปที่สาขาแบงก์ จะนำเงินมาฝากเข้าบัญชีผ่านแบงกิ้งเอเย่นต์ เช่น ในเซเว่นฯ หรือบิ๊กซี ซึ่งเราก็มีแผนจะขยายพันธมิตรต่อไปอีก”

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีแบงกิ้งเอเย่นต์รวม 7 ราย ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส, ไปรษณีย์ไทย, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส, เดอะมอลล์, ตู้บุญเติม และตู้เติมสบาย โดยธุรกรรมหลัก ๆ ได้แก่ ฝากเงิน ถอนเงิน ชำระบิล (ขึ้นกับพันธมิตรแต่ละราย) ปัจจุบันมีจำนวนธุรกรรมที่ทำรายการฝาก/ถอน ประมาณ 12.5 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรมทั้งหมด 5.3 หมื่นล้านบาท เติบโตเดือนละ 15% ทั้งจำนวนรายการ และมูลค่าธุรกรรม นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้เปิดบัญชีออมทรัพย์ ผ่านระบบยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) กับแบงกิ้งเอเย่นต์ รวม 1.3 แสนบัญชี

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เดิมธนาคารมีจับมือกับไปรษณีย์เป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ แต่ขณะนี้กำลังพูดคุยกับเคาน์เตอร์เซอร์วิสอีกราย หลังจากล่าสุดได้เปิดให้บริการยืนยันตัวตน เพื่อเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ชิลดี ซีไอเอ็มบี ไทยไป


ตารางแบงกิ้งเอเย่นต์