ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า ตลาดจับตาผลการประชุม FED คืนพรุ่งนี้

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 15 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 31.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 31.33/34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ได้ปรับตัวอ่อนค่าเทียบเงินสกุลหลัก

เนื่องจากนักลงทุนได้เทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีข่าวความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษ ที่ได้ประกาศว่าจะกลับมาทดลองวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเฟส 3 อีกครั้งหลังระงับโครงการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเนื่องจากอาสาสมัครรายหนึ่งมีอาการป่วยรุนแรงหลังจากได้รับวัคซีนดังกล่าว

นอกจากนี้ นายอัลเบิร์ต โบร์ลา CEO บริษัทไฟเบอร์ (Pfizer) ผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่ไฟเซอร์กำลังพัฒนาร่วมกับบริษัทไบออนเทค (BioNTech) ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนีนั้นมีความปลอดภัยและคาดว่าจะสามารถฉีดให้กับชาวสหรัฐได้ก่อนสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 กันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้เริ่มปรับตัวแข็งขึ้นตามค่าเงินในภูมิภาคหลังจากช่วงเช้าที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในวันนี้

ได้แก่ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนประจำเดือนสิงหาคมได้ปรับตัวขึ้น 5.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 5.1% พร้อมทั้งยอดค้าปลีกจีนประจำเดือนสิงหาคมปรับตัวขึ้น 0.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 0.0% อย่างไรก็ดีการแข็งค่าของเงินบาทยังอยู่ในกรอบจำกัดจากปัจจัยภายในประเทศ เนื่องด้วยสถานการณ์การเมือง การลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ยังไม่สามารถหารัฐมนตรีคนใหม่มาแทนได้ พร้อมด้วยความล่าช้าของงบประมาณปี 2564 ซึ่งได้กระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.19-31.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) ที่ระดับ 1.1867/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 1.1862/63 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากปัจจัยความไม่แน่นอนของการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและยูโรโซน หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรลงมติรับร่างกฎหมาย Internal Market Bill แล้วด้วยคะแนนเสียง 340 ต่อ 263 เสียง

ซึ่งจะเปิดทางให้มีการอภิปรายรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปเป็นเวลา 4 วันในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ร่างกฎหมายใหม่จะมาแทนที่ข้อตกลงบางส่วนของสนธิสัญญาการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่สหราชอาณาจักรทำไว้กับสหภาพยุโรป (EU) ในปีที่ผ่านมา โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องเอกภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม EU แสดงความไม่พอใจต่อร่างกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้สหราชอาณาจักรและ EU มีโอกาสน้อยลงในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันก่อนครบกำหนด Brexit ในเดือนธันวาคมนี้

ทั้งนี้ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงท้ายตลาดหลังจากได้มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายนจากสถาบัน ZEW ของยูโรโซนอยู่ที่ระดับ 73.9 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 63.0 พร้อมทั้งตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายนจากสถาบัน ZEW ของเยอรมนีอยู่ที่ระดับ 77.4 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ระดับ 69.7 โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1857-1.1899 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1883/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/9) เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (14/9) ที่ระดับ 105.96/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าหลังจากวานนี้ (14/9) พรรคแอลดีพีประกาศเลือกนายโยชิฮิเดะ สึกะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้ดำรงตำแหน่งประธานพรรคคนใหม่ โดยนายสึกะจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแทนนายชินโซ อาเบะ โดยอัตโนมัติ เนื่องจากพรรคแอลดีพีครองเสียงข้างมากในสภา

ทั้งนี้นายสึกะจะยังคงให้นายทาโร อาโสะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง และนายโทชิมิตสึ โมเตกิ ยังคงเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศตามเดิม อีกทั้งนายสึกะยังให้คำมั่นที่จะดำเนินตามนโยบายเดิมของนายอาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่ลาออกด้วยปัญหาสุขภาพก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) วันที่ 16-17 กันยายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.59-105.81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (15-16/9), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (16/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (16/9), ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมของยูโรโซน (16/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (16/9), การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (16-17/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของอียู (17/9), การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (17/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (17/9), อัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (18/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (18/9) ตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (18/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือน ในประเทศอยู่ที่ 0.05/02 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.2/3.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ