ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่า ตลาดจับตาผลประชุม FED คืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 16 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/9) ที่ระดับ 31.20/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (15/9) ที่ระดับ 31.21/23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยปรับตัวไร้ทิศทาง ซึ่งมีการปรับตัวแข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโร แต่ปรับตัวอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนและเงินบาท เนื่องจากนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 15-16 กันยายนนี้ ซึ่งจะตรงกับช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (17/9) ตามเวลาไทย

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดจะให้รายละเอียดมากขึ้น เกี่ยวกับ “เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย” ซึ่งถือเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้กล่าวถึงในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ได้รายงานดัชนีภาคการผลิตที่ติดตัวขึ้น 13.3 จุด สู่ระดับ 17.0 ในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.0 ซึ่งการที่ดัชนีอยู่เหนือระดับ 0 เป็นการบ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์กที่ดีขึ้น และดัชนีมีค่าเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วตามค่าเงินในภูมิภาค

อย่างไรก็ดีการแข็งค่าของเงินบาทยังอยู่ในกรอบจำกัดจากปัจจัยภายในประเทศ เนื่องด้วยสถานการณ์การเมือง การลาออกของนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ยังไม่สามารถหารัฐมนตรีคนใหม่มาแทนได้ พร้อมด้วยความล่าช้าของงบประมาณปี 2564 ซึ่งได้กระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.10-31.23 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/9) ที่ระดับ 1.1833/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/9) ที่ระดับ 1.1880/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรยังคงถูกกดดันจากปัจจัยความไม่แน่นอนของการเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและยูโรโซน หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหราชอาณาจักรลงมติรับร่างกฎหมาย Internal Market Bill แล้วด้วยคะแนนเสียง 340 ต่อ 263 เสียง ซึ่งจะเปิดทางให้มีการอภิปรายรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปเป็นเวลา 4 วัน ในสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ร่างกฎหมายใหม่จะมาแทนที่ข้อตกลงบางส่วนของสนธิสัญญาการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่สหราชอาณาจักรทำไว้กับสหภาพยุโรป (EU) ในปีที่ผ่านมา โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ได้เรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมสนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อปกป้องเอกภาพด้านการเมืองและเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

อย่างไรก็ตาม EU แสดงความไม่พอใจต่อร่างกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และทำให้สหราชอาณาจักรและ EU มีโอกาสน้อยลงในการบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกันก่อนครบกำหนด Eresit ในเดือนธันวาคมนี้

ส่วนค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบจากเมื่อวานซึ่งได้อานิสงส์จากตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจประจำเดือนกันยายนจากสถาบัน ZEW ของยูโรโซน ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1827-1.1878 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1875/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/9) ที่ระดับ 105.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/9) ที่ระดับ 105.75/78 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงหนุนในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ (16/9) นักลงทุนเข้าซื้อเยนเนื่องจากคาดว่าเฟดจะดำเนินการตามจุดยืนใหม่ที่ยอมรับภาวะเงินเฟ้อได้มากยิ่งขึ้น และเฟดอาจจะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง

แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความเสี่ยงที่เฟดอาจจะไม่ดำเนินมาตรการเพิ่มเติม หลังจากที่ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปบ้างแล้ว ปัจจัยดังกล่าวอาจจะส่งผลบวกต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และอาจจะส่งผลลบต่อค่าเงินเยนได้

ทั้งนี้ตลาดยังคงจับตาการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOI) ในวันที่ 17 กันยายนนี้ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระห่าง 105.14-105.61 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.19/22 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (15-16/9), ดุลการค้าเดือนกรกฎาคมของยูโรโซน (16/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของสหรัฐ (16/9), การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (16-17/9), ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนสิงหาคมของอียู (17/9), การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (17/9), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (17/9), อัตราเงินเดือนสิงหาคมของญี่ปุ่น (18/9), ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมของอังกฤษ (18/9) ตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนกันยายนจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐ (18/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.15/+0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.50/4.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ