สบน.สั่งหน่วยงานรัฐ-รสก. ปิดเสี่ยงหนี้นอกอิงค่าบาท

ผู้อำนวยการ สบน.คนใหม่ลั่น “ปิดเสี่ยง” หนี้ต่างประเทศทันทีที่กู้ หวังลดแรงกดดันเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็ว เร่งแก้ร่าง พ.ร.บ.บริหารหนี้ฯใหม่เลิกแยกหนี้บริษัทลูกรัฐวิสาหกิจออกจากหนี้สาธารณะ พร้อมเปิดทางกู้เสริมสภาพคล่องใช้เหลื่อมปีได้

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คนใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การบริหารหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2561 นี้ ในกรณีที่มีการกู้เงินต่างประเทศจะต้องปิดความเสี่ยงทันที เนื่องจากค่าเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่า รวมถึง สบน.จะพิจารณาว่า มีหนี้ต่างประเทศก้อนใดที่สามารถชำระหนี้ล่วงหน้า (พรีเพย์) หรือหากสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามาไว้เพื่อบริหารหนี้ เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนได้ ก็จะดำเนินการทันที

“การบริหารจัดการหนี้ต่างประเทศจะได้ประโยชน์ 2 ทาง คือเซฟต้นทุน และช่วยให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าเกินไปด้วย ซึ่งเราจะต้องบริหารหนี้ต่างประเทศทั้งการกู้เงินของรัฐบาล และการกู้เงินของรัฐวิสาหกิจด้วย โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่มีความสามารถจ่ายหนี้ล่วงหน้าได้ ก็จะให้เขาปิดความเสี่ยง เพราะหนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นของรัฐวิสาหกิจ”

ทั้งนี้ ในการบริหารหนี้สาธารณะ ตนให้ความสำคัญกับการชำระหนี้ให้เป็นไปตามกำหนด และรักษาประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดยไม่ว่าจะมีการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) หรือยืดหนี้ (โรลโอเวอร์) ก็ต้องสร้างความชัดเจนว่าจะช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ประเทศได้แค่ไหน พร้อมกับต้องเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใสด้วย นอกจากนี้จะต้องสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะด้วยว่า หนี้สาธารณะกับหนี้ของประเทศแตกต่างกันอย่างไร

นายประภาศกล่าวอีกว่า สำหรับการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะนั้น เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการให้แก้ไขกรณีที่กระทรวงการคลังได้เสนอตัดหนี้ของบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจออกจากหนี้สาธารณะ ซึ่งทาง สนช.เห็นว่าอาจทำให้เกิดการผ่องถ่ายหนี้จากรัฐวิสาหกิจไปซุกหนี้ไว้กับบริษัทลูก ดังนั้นจึงจะไม่มีการตัดหนี้ดังกล่าวออกจากหนี้สาธารณะแล้ว

“ทาง สนช.ให้รวมหนี้บริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจเหมือนเดิม ดังนั้นจึงเท่ากับว่าประเด็นนี้ไม่ได้แก้ แต่ประเด็นการให้ สบน.เข้าไปกำกับหนี้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้นยังคงมีอยู่” นายประภาศกล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวด้วยว่า ขณะที่ในส่วนการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ในประเด็นที่ให้สามารถกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องระหว่างปีได้นั้น หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมายแล้วเห็นว่า ควรจะเพิ่มการกู้เสริมสภาพคล่องสำหรับการเบิกจ่ายงบฯเหลื่อมปีได้ด้วย ไม่เฉพาะงบประมาณแบบปีต่อปีเท่านั้น แต่การกู้เงินก็จะยังคงอยู่ในกรอบ 5% เท่ากับข้อเสนอเดิม ซึ่งการแก้ไขในส่วนนี้ ทาง สบน.เห็นด้วยกับกฤษฎีกา และจะต้องนำกลับมาทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญก่อน

ก่อนหน้านี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้ สบน.เปิดเผยว่า แผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2561 มีวงเงินรวมกว่า 1.5 ล้านล้านบาท แยกเป็น แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 5.82 แสนล้านบาท และแผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 9.2 แสนล้านบาท โดยคาดว่ายอดหนี้สาธารณะสิ้นปีงบประมาณ 2561 จะอยู่ที่ 42.7% ของ GDP ภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 9% ขณะที่หนี้สาธารณะคงค้าง ล่าสุด ณ วันที่ 31 ส.ค. 2560 อยู่ที่ 6.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.98 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 41.92% ของ GDP ซึ่งในระยะ 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2565 หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 49.6% ของ GDP และภาระหนี้ต่องบประมาณอยู่ที่ 10.7% ถือว่ายังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง