คาดงบฯปี’64 ล่าช้า 1 สัปดาห์ ยันไร้ผลกระทบการเบิกจ่าย

เงิน-งบประมาณ

สำนักงบฯคาดงบประมาณปี’64 ล่าช้าสัปดาห์เดียว ยันไร้ผลกระทบเบิกจ่าย ชี้งบฯประจำใช้ปี’63 ไปพลางก่อนได้ถึง 1 ไตรมาส ส่วนงบฯลงทุนให้เตรียมพร้อมจัดซื้อจัดจ้างรอไว้ ยันสถิติไม่เคยมีหน่วยงานเซ็นสัญญาก่อหนี้ได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกของปีงบประมาณ พร้อมแจงเบี้ยคนชราไม่พอจ่ายเป็นปัญหาบริหารจัดการของท้องถิ่น

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งบประมาณปี 2564 น่าจะล่าช้าออกไปเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น และสามารถใช้งบฯปี 2563 ไปพลางก่อนได้ โดยสามารถเบิกจ่ายงบฯประจำได้ 25% หรือราว 1 ไตรมาส จึงไม่ได้มีผลกระทบแต่อย่างใด ขณะที่งบฯลงทุนแม้จะเบิกจ่ายยังไม่ได้ แต่สามารถเตรียมพร้อมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ได้ รวมถึงตามสถิติที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการลงนามในสัญญาก่อหนี้ผูกพันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.อยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนข้าราชการ หรือเบี้ยคนชราก็ไม่ได้ขาด แต่อยู่ที่การบริหารเงินของท้องถิ่นเอง

“ที่ผ่านมาเบี้ยคนชราไม่เคยขาด โดยแต่ละปีรัฐจัดสรรให้กว่า 2.3 แสนล้านบาทต่อปี ให้ท้องถิ่นไปบริหารกันเองได้สบาย ๆ เช่นเดียวกันกับการออกงบฯพลางก่อน ที่เราให้ไป 3 เดือนล่วงหน้า เบิกยังไงก็ไม่หมด แล้วงบประมาณปี 2564 บังคับใช้ ส่วนที่เหลือก็ออกได้เลย” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

สำหรับการจัดสรรเบี้ยคนชราแต่ละปีนั้น นายเดชาภิวัฒน์กล่าวว่า ไม่ใช่ปัญหาถังแตกแน่นอน แต่เป็นปัญหาการบริหารจัดการของส่วนราชการ โดยคนชราทั้งประเทศมีอยู่กว่า 9 ล้านราย แต่เวลาตั้งงบฯให้ จะตั้งจากตัวเลขผู้ที่ลงทะเบียนขอรับเบี้ยคนชรา อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2563 นี้ ปรากฏว่ามีคนชรามาลงทะเบียนมากกว่าปกติ จึงทำให้งบฯที่ตั้งไว้ไม่พอ ซึ่งตามกลไกปกติทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สามารถขอรับการจัดสรรงบฯกลาง เข้ามาได้ก่อนที่จะถึงเวลาเบิกจ่าย ถือเป็นการบริหารจัดการของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเอง

“ปกติแล้วกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องตรวจดูว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ หรือ ก.ค.-ก.ย. ต้องจ่ายอะไรบ้าง มีเงินตรงไหนขาดก็ต้องรู้มาก่อนแล้วขอตั้งงบฯกลางเข้ามา” นายเดชาภิวัฒน์กล่าว

ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2564 ทุกกระทรวงยังคงต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายโดยปัจจุบันทุกหน่วยงานทราบดีว่าหากไม่เร่ง สุดท้ายจะไม่สามารถกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีได้ รวมถึงยังมีผลต่อการขอตั้งงบประมาณในปีถัดไปด้วย เช่น หากปีนี้เบิกจ่ายได้แค่ 80% ปีหน้าก็จะถูกตัดงบประมาณไป 20% เป็นต้น เพื่อนำงบฯส่วนดังกล่าวไปจัดสรรให้หน่วยงานที่เบิกจ่ายได้มีประสิทธิภาพมากกว่าแทน