คลังชี้โควิดกระทบสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เดือน มิ.ย. หนี้เสียพุ่ง 15.78%

คลังเผยนิติบุคคลขอสินเชื่อ “พิโกไฟแนนซ์-พิโกพลัส” รวม 1.3 พันราย ยอดอนุมัติสินเชื่อสะสม 7.4 พันล้านบาท ชี้สิ้นเดือนมิ.ย. หนี้เสียพุ่ง 15.78%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งประเภทพิโกไฟแนนซ์และประเภทพิโกพลัสสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,361 ราย ใน 76 จังหวัด (จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อทั้งสองประเภท
ยังคงเป็นจังหวัดเดิม คือ อ่างทอง)

ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภท ที่แจ้งเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 825 ราย ใน 72 จังหวัด และมีรายละเอียด ดังนี้

(1) สินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์ มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิทั้งสิ้น 1,055 ราย ใน 75 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้น 6 ราย จากเดือนมิถุนายน 2563 หรือเพิ่มขึ้น 106 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562 โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (96 ราย) นครราชสีมา (94 ราย) และขอนแก่น (63 ราย) ตามลำดับ มีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์สะสมสุทธิทั้งสิ้น 844 ราย ใน 74 จังหวัด และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 753 ราย ใน 72 จังหวัด

(2) สินเชื่อประเภทพิโกพลัส มีจำนวนผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมสุทธิทั้งสิ้น 169 ราย ใน 55 จังหวัด (ประกอบด้วย นิติบุคคลที่เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกไฟแนนซ์เดิมและเปิดดำเนินการแล้วมายื่นขอเปลี่ยนใบคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิจำนวน 89 ราย ใน 39 จังหวัด และเป็นนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตใหม่สะสมสุทธิจำนวน 80 ราย ใน 29 จังหวัด) ซึ่งเพิ่มขึ้น 4 ราย จากเดือนมิถุนายน 2563 หรือเพิ่มขึ้น 97 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2562

โดย ณ เดือนกรกฎาคม 2563 จังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสะสมมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา (21 ราย) กรุงเทพมหานคร (13 ราย) และอุดรธานี (11 ราย) โดยมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อประเภทพิโกพลัสสะสมสุทธิทั้งสิ้น 91 ราย ใน 32 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่) และมีจำนวนผู้เปิดดำเนินการแล้ว 72 ราย ใน 29 จังหวัด (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2563 จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่)

(3) ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสมและยอดสินเชื่อคงค้างสะสม แบ่งเป็น (3.1) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติใหม่จำนวน 279.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2563 ที่มียอดสินเชื่ออนุมัติใหม่จำนวน 208.45 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มและทิศทางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากการคลี่คลายลงของสถานการณ์ COVID – 19 การผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ และการที่กลุ่มเกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน จึงมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพื่อจัดหาเมล็ดพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิตต่าง ๆ

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับยอดสินเชื่ออนุมัติใหม่ของเดือนมิถุนายน 2562 (จำนวน 344.93 ล้านบาท) พบว่ามีทิศทางที่ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจภาพรวมที่ยังคงไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มีจำนวน 294,481 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,407.08 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,153 บาท ต่อบัญชี ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 137,971 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,894.16 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 52.57 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 156,510 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 3,512.92 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 47.43 ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม

(3.2) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 มียอดสินเชื่อคงค้างสะสมรวมจำนวนทั้งสิ้น 134,746 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 3,006.53 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อค้างชำระ 1 – 3 เดือน สะสมรวมทั้งสิ้น 16,454 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 396.05 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.17 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม และมีสินเชื่อค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) สะสมรวมจำนวน 22,110 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงินสะสมรวม 474.43 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 15.78 ของยอดสินเชื่อคงค้างสะสม

ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับยอด NPL ของเดือนพฤษภาคม 2563 โดยมีปัจจัยหลักมาจากผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์มีการติดตามและเฝ้าระวังหนี้ค้างชำระของลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ประกอบกับประชาชนเริ่มกลับมาประกอบอาชีพได้มากขึ้น ทำให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับยอด NPL ของเดือนมิถุนายน 2562 (ร้อยละ 10.49) พบว่า มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19